21 ธันวาคม 2548

การโฆษณาร่วมกัน

ในช่วงเทศกาลกลุ่มบริษัทมักจะมีการโฆษณาร่วมกันในหน้าหนังสือพิมพ์ หรือรายการโทรทัศน์
จึงมีประเด็นปัญหาทางภาษีอากรที่กรมสรรพากรได้วางแนวทางปฏิบัติ โดยตอบข้อหารือไว้แล้ว จึงขอนำเป็นประเด็นปุจฉา-วิสัชนา ดังนี้
ปุจฉา สมมติบริษัท บ.ผลิตสินค้าประเภทเครื่องดื่ม เช่น เบียร์ โซดา น้ำดื่ม ได้มีนโยบายในการปรับปรุงโครงสร้าง และระบบการบริหารของบริษัทใหม่เพื่อรองรับการแข่งขันในกิจการประเภทเครื่องดื่มโดยให้บริษัทในเครือเป็นผู้ผลิตสินค้าภายใต้ชื่อ และเครื่องหมายการค้า ส่วนบริษัท บ.จะเป็นผู้ดูแล และกำกับเฉพาะนโยบายในด้านการประชาสัมพันธ์ชื่อและเครื่องหมายการค้า การดูแลกำกับการ สั่งการใดๆ การโฆษณาประชาสัมพันธ์ เครื่องหมายการค้า แสวงหาข้อมูลด้านการตลาดหรือข้อมูลต่างๆ ในทางการค้า กำหนดแผนการตลาด ติดต่อกับสื่อหรือเอเย่นต์บริษัทผู้รับทำโฆษณา (Agency) เกี่ยวกับแผนการตลาดและกิจกรรมต่างๆ ในและต่างประเทศ ตรวจสอบการทำงานและประสิทธิภาพของสื่อ และตรวจสอบบิล และใบแจ้งหนี้จากบริษัทโฆษณาหรือบริษัทสื่อต่างๆ เพื่อจัดเก็บค่าใช้จ่ายด้านการโฆษณาประชาสัมพันธ์ ค่าใช้จ่ายในการโฆษณาและประชาสัมพันธ์ คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายได้ทำสัญญาตกลงจะร่วมกันรับผิดชอบโดยการเฉลี่ยค่าใช้จ่ายตามหลักเกณฑ์ และวิธีการ ดังนี้
1.ค่าใช้จ่ายในการโฆษณาเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่บริษัท บ.ได้จ่ายจริงและจ่ายเพื่อการโฆษณาประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดเท่านั้น
2.ค่าใช้จ่ายโฆษณาของผลิตภัณฑ์ชนิดใดมีการผลิต ณ โรงงานของบริษัทในเครือหลายแห่ง ให้คิดถัวเฉลี่ยตามยอดขายของแต่ละบริษัทในเครือ และแต่ละชนิดผลิตภัณฑ์
3.การคิดคำนวณและเรียกเก็บส่วนเฉลี่ยค่าโฆษณาภายใต้สัญญานี้ บริษัท บ.จะคิดค่าบริการหรือบวกกำไรหรือส่วนเพิ่มตามสมควร จึงเกิดประเด็นปัญหาทางภาษีว่า
1.ในการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายของบริษัท บ.ข้างต้น เข้าลักษณะเป็นการให้บริการรับจ้างโฆษณาบริษัทในเครือหรือไม่ บริษัท บ.ต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากบริษัทในเครือหรือไม่ และบริษัทในเครือต้องคำนวณหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 2.0 ของจำนวนเงินที่จ่าย หรือไม่ อย่างไร
2.บริษัท บ.มีสิทธินำภาษีซื้อจากการโฆษณาตามใบกำกับภาษีที่บริษัทโฆษณาหรือบริษัทสื่อโฆษณาได้ออกให้ ไปใช้ในการคำนวณเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่มได้หรือไม่ และเมื่อบริษัท บ.เรียกเก็บเงินจากบริษัทในเครือใบกำกับภาษีที่บริษัท บ.ได้ออกให้ บริษัทในเครือมีสิทธินำไปใช้หรือขอเครดิตภาษีต่อไปได้หรือไม่
3.หากบริษัท บ.ไม่มีการเรียกเก็บส่วนต่างหรือค่าบริการใดๆ บริษัท ในเครือไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย เนื่องจากไม่มีกำไรจะกระทำได้หรือไม่ วิสัชนา กรมสรรพากรได้มีแนววินิจฉัยดังนี้
1.กรณีบริษัท บ.ได้ตกลงกับบริษัทในเครือซึ่งเป็นผู้ผลิตสินค้าประเภทเครื่องดื่มภายใต้ชื่อและเครื่องหมายการค้าของบริษัท บ.โดยบริษัท บ.จะเป็นผู้ดำเนินการในเรื่องของการโฆษณาประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์สินค้าภายใต้ชื่อและเครื่องหมายการค้าดังกล่าว รายจ่ายสำหรับการโฆษณาที่บริษัท บ.ได้จ่ายไปจึงเป็นรายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ ทั้งนี้ ตามมาตรา 65 และมาตรา 65 ตรี (13) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น เมื่อบริษัท บ.ได้จ่ายค่าโฆษณาตามข้อเท็จจริงดังกล่าว บริษัท บ.มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย และนำส่งกรมสรรพากรในอัตราร้อยละ 2.0 ของยอดเงินที่จ่ายนั้น ตามข้อ 10 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ.2528 สำหรับภาษีซื้อที่บริษัท บ.ถูกเรียกเก็บจากผู้ประกอบกิจการให้บริการโฆษณาภาษีซื้อดังกล่าวบริษัท บ.มีสิทธินำไปหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร
2.กรณีบริษัท บ.ได้เรียกเก็บเงินจากบริษัทในเครือตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่บริษัท บ.และบริษัทในเครือได้ตกลงกัน เนื่องจากเงินที่บริษัท บ.ได้เรียกเก็บตามสัญญาดังกล่าว เป็นเรื่องของกิจการให้บริการโฆษณาโดยตรง ดังนั้น เมื่อบริษัทในเครือได้จ่ายเงินค่าโฆษณาให้กับบริษัท บ.ตามสัญญาดังกล่าว บริษัทในเครือมีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย และนำส่งในอัตราร้อยละ 2.0 ของยอดเงินได้ที่จ่ายนั้น ทั้งนี้ ตามข้อ 10 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ.2528 บริษัท บ.ซึ่งเป็นผู้ให้บริการตามสัญญาดังกล่าวมีหน้าที่ต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากบริษัทในเครือซึ่งเป็นผู้รับบริการ ทั้งนี้ ตามมาตรา 77/2 และมาตรา 82/4 แห่งประมวลรัษฎากร โดยภาษีมูลค่าเพิ่มที่บริษัทในเครือถูกเรียกเก็บย่อมเป็นภาษีซื้อของบริษัทในเครือเพื่อนำไปหักกับภาษีขายในการคำนวณเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร
3.หากบริษัท บ.ได้มีการเรียกเก็บเงินตามสัญญาดังกล่าว โดยมิได้มีการเรียกเก็บส่วนต่าง หรือค่าบริการใดๆ เพิ่มเติมจากที่บริษัท บ.ได้จ่ายไปจริง ก็สามารถกระทำได้ไม่เป็นการขัดต่อกฎหมาย แต่บริษัทในเครือก็ยังคงมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย และนำส่งในอัตราร้อยละ 2.0 ของยอดเงินได้ที่จ่ายนั้น ตามนัยในข้อ 2 ข้างต้น
จากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ คอลัมน์ไขปัญหาภาษี วันที่ 21 ธันวาคม 2548

ไม่มีความคิดเห็น:

คลังบทความของบล็อก