28 ธันวาคม 2548

หลักเกณฑ์รายจ่ายทางภาษีอากร

ในช่วงใกล้ปีใหม่ ขอนำประเด็นหลักเกณฑ์เกี่ยวกับรายจ่ายในการดำเนินกิจการทางภาษีอากร ที่ใช้ในการคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลมาปุจฉา-วิสัชนา ดังนี้
ปุจฉา ในทางภาษีเงินได้นิติบุคคลจัดแบ่งรายจ่ายออกเป็นกี่ประเภท อะไรบ้าง วิสัชนา ในทางภาษีเงินได้นิติบุคคล แบ่งรายจ่ายออกเป็นสองประเภทคือ
1.รายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน หมายถึง รายจ่ายเพื่อการได้มาซึ่งทรัพย์สินที่จะนำมาใช้ในการดำเนินการหรือเพื่อการหารายได้ ซึ่งอาจแบ่งย่อยเป็น (1) ทรัพย์สินถาวรที่มีรูปร่าง เช่น ที่ดิน อาคาร เครื่องจักร เครื่องใช้สำนักงานเป็นต้น (2) ทรัพย์สินถาวรที่ไม่มีรูปร่าง เช่น ค่าลิขสิทธิ์ สิทธิการเช่า ค่าสัมปทาน ต้นทุนเพื่อการได้มา ซึ่งสิทธิทั้งปวง เป็นต้น รายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีกรรมสิทธิ์ หรือแม้ไม่มีกรรมสิทธิ์แต่มีอายุการใช้งานเกินกว่าหนึ่งรอบระยะเวลาบัญชี มีข้อกำหนดตามประมวลรัษฎากรห้ามมิให้นำมาถือเป็นรายจ่ายในการดำเนินงาน (มาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร) แต่ยอมให้นำมาหักเป็นรายจ่ายในรูปของค่าสึกหรอ และค่าเสื่อมราคาตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในมาตรา 65 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร และพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 145) พ.ศ.2527
2.รายจ่ายในการดำเนินกิจการ หมายถึง รายจ่ายในการดำเนินธุรกิจอันก่อให้เกิดรายได้ ซึ่งโดยทั่วไปเมื่อรายจ่ายดังกล่าว บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจะไม่ได้รับกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินหรือสิทธิใดๆ หากแต่ใช้สิ้นเปลืองหมดไป เช่น เงินเดือน ค่าจ้าง ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ ค่าเครื่องเขียนแบบพิมพ์ เป็นต้น หรือแม้ได้กรรมสิทธิ์มาเป็นทรัพย์สินก็จะมีอายุการใช้งานไม่เกินหนึ่งรอบระยะเวลาบัญชี (12 เดือน) เช่น ไม้กวาด กระดาษชำระ น้ำยาทำความสะอาด เป็นต้น ปุจฉา มีหลักเกณฑ์เกี่ยวกับรายจ่ายในการดำเนินกิจการทั่วไปอย่างไร วิสัชนา สำหรับรายจ่ายทั่วไปที่มีหลักเกณฑ์ในการพิจารณา ดังนี้ 1.ต้องเป็นรายจ่ายที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับการประกอบกิจการ (อนุโลมตามมาตรา 65 ทิว (13) แห่งประมวลรัษฎากร) เช่น ค่าใช้จ่ายในการนำพนักงานของบริษัท ไปทัศนาจรเป็นการพักผ่อนเพื่อเสริมสร้างสมรรถภาพและกำลังใจในการปฏิบัติงาน โดยจัดเป็นคณะมิใช่เจาะจงเป็นการเฉพาะราย เข้าลักษณะเป็นรายจ่ายเพื่อกิจการของบริษัท โดยตรง ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (3) แห่งประมวลรัษฎากร 2.ต้องเป็นรายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ และมีเหตุผลอันสมควรในอันที่จะจ่ายรายจ่ายนั้น (อนุโลมตามมาตรา 65 ตรี (13) (15) แห่งประมวลรัษฎากร) เช่น การนำทรัพย์สินของบุคคลอื่นมาใช้ในกิจการของบริษัท โดยไม่ต้องเสียค่าเช่า แต่บริษัท ต้องออกค่าซ่อมแซม ออกอะไหล่และส่วนประกอบ หรือออกค่าน้ำมันเชื้อเพลิงหรืออื่นๆ โดยมติของที่ประชุมผู้ถือหุ้น ยอมให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตี (13) แห่งประมวลรัษฎากร หรือกรณีบริษัทจ่ายเงินตอบแทนพิเศษแก่พนักงานในโอกาสครบ 20 ปีการก่อตั้งบริษัท ตามรายงานการประชุม ถือเป็นรายจ่ายได้ เพราะบริษัท มีระเบียบวางไว้แล้ว ตามรายงานการประชุมบริษัท และมิได้กำหนดจ่ายจากผลกำไรที่ได้เมื่อสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชีแล้ว ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (13) แห่งประมวลรัษฎากร กรณีบริษัท ตั้งตัวแทนย่อยเพื่อจำหน่ายสินค้าของตนในต่างจังหวัดและตั้งกฎเกณฑ์ว่า ตัวแทนรายใดจำหน่ายสินค้าได้ในปริมาณที่กำหนด บริษัท จะส่งไปดูงานการผลิตและจำหน่ายในต่างประเทศ (1) บริษัท นำรายจ่ายค่าพาหนะเดินทางทั้งค่าที่พัก ค่าอาหารที่จ่ายไปให้แก่ตัวแทนดังกล่าว หากถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลใด ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (13) แห่งประมวลรัษฎากร แต่กฎเกณฑ์ดังกล่าวจะต้องแจ้งให้ตัวแทนทราบโดยทั่วกัน (2) เงินค่าพาหนะเดินทาง ค่าที่พัก และค่าอาหารดังกล่าว ตัวแทนจะต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ด้วย เพราะเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(2) แห่งประมวลรัษฎากร
3.ต้องเป็นรายจ่ายที่มีหลักฐานการจ่ายที่สามารถพิสูจน์ผู้รับได้ ได้แก่ ใบเสร็จรับเงิน ใบกำกับภาษี ใบส่งของ ใบแจ้งหนี้ เป็นต้น สำหรับในบางกรณีที่ไม่มีการจ่ายเงิน หรือค่าตอบแทนอย่างอื่น แต่เกิดค่าใช้จ่ายขึ้น เช่น กรณีภัยพิบัติต่างๆ อุบัติเหตุ การฉ้อโกง การลักขโมย ฯลฯ กิจการต้องแสวงหาหลักฐานที่จะสนับสนุนรายการรายจ่ายดังกล่าว เช่น หลักฐานการแจ้งความลงบันทึกประจำวันของเจ้าหน้าที่ตำรวจภาพถ่าย ข่าวสารหนังสือพิมพ์ เป็นต้น (อนุโลมตามมาตรา 65 ตรี (18) แห่งประมวลรัษฎากร)
4.ต้องเป็นรายจ่ายสิ้นเปลืองหมดไปที่ไม่ก่อให้เกิดเป็นทรัพย์สินหรือสิทธิที่มีอายุการใช้งานเกินกว่าหนึ่งรอบระยะเวลาบัญชี มิฉะนั้น อาจถือเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน (อนุโลมตามมาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร) 5.รายจ่ายในการดำเนินงานที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีปีใด ให้ถือเป็นรายจ่ายของรอบระยะเวลาบัญชีปีนั้น เว้นแต่ในกรณีที่ไม่สามารถกำหนดจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีใด ก็ให้ถือเป็นรายจ่ายของรอบระยะเวลาบัญชีปีที่รายจ่ายนั้นกำหนดจำนวนที่แน่นอนได้ (อนุโลมตามมาตรา 65 และมาตรา 65 ตรี (9) แห่งประมวลรัษฎากร) 6.ต้องไม่เข้าลักษณะเป็นรายจ่ายที่ต้องห้ามตามเงื่อนไขแห่งประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร
จากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ คอลัมน์ไขปัญหาภาษี วันที่ 28 ธันวาคม 2548

ไม่มีความคิดเห็น:

คลังบทความของบล็อก