ภาษี

16 มกราคม 2550

ขายที่ดินมรดกได้รับลดหย่อน

นายพีรพล ไตรทศาวิทย์ อธิบดีกรมที่ดิน เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีปัญหาในทางปฏิบัติเกี่ยวกับการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนโอน และการจดทะเบียนจำนองอสังหาริมทรัพย์ หรือห้องชุด ตามมาตรการส่งเสริมตลาดบ้านมือสอง กรณีที่ผู้จัดการมรดกจดทะเบียนขายบ้าน บ้านพร้อมที่ดิน หรือห้องชุด ซึ่งเป็นทรัพย์ในกองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง (ยังไม่ได้จดทะเบียนโอนให้แก่ทายาท) เพื่อนำเงินไปแบ่งปันให้แก่ทายาท หรือชำระหนี้กองมรดกจะมีสิทธ ิได้รับลดค่าธรรมเนียมการโอนเหลือร้อยละ 0.01 ตามมาตรการส่งเสริมตลาดบ้านมือสอง หรือไม่นั้นกรมที่ดินพิจารณาแล้วเห็นว่า หากข้อเท็จจริงปรากฏว่าเจ้ามรดกมีชื่อในทะเบียนบ้านที่ขายตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี ที่ได้สิทธิครอบครอง หรือทายาทที่มีสิทธิรับมรดก มีชื่อในทะเบียนบ้านที่ขายก็จะได้สิทธิรับลดหย่อนค่าธรรมเนียมการโอนเหลือร้อยละ 0.01 แต่หากเป็นการขายบ้านพร้อมที่ดิน หรือห้องชุดที่ไม่ได้เป็นการขายยกหลังและยกแปลงที่ดิน แต่เป็นการขายเฉพาะส่วนของผู้ถือกรรมสิทธิ์บางคน หรือเป็นการขายเพียงบางส่วนโดยการให้ผู้ซื้อเข้าชื่อร่วมด้วยไม่อยู่ในหลักเกณฑ์
จากหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 03 กรกฎาคม พ.ศ. 2549 ปีที่ 30 ฉบับที่ 3806 (3006)

ลูกหนี้แบงก์แจ็กพอตซื้อบ้านขายทอดตลาดต้องเสียภาษี-ค่าโอนซ้ำสอง

กรมที่ดินกำหนดแนวทางปฏิบัติกรณีลูกหนี้ซื้อบ้านตัวเองจากการขายทอดตลาดของกรมบังคับคดีใหม่ ชี้สำนักงานที่ดินสาขาทั่วประเทศต้องรับจดทะเบียน ลูกหนี้แจ็กพอตต้องจ่ายค่าธรรมเนียมโอน-ภาษีอีกทอดแหล่งข่าวจากกรมที่ดินเปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า เมื่อวันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา นายขันธ์ชัย วิจกขณะ รองอธิบดีกรมที่ดิน ได้ทำหนังสือถึงสำนักงานที่ดินสาขาทั่วประเทศ แจ้งแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครอง ให้กับผู้ซื้อทรัพย์ของตนเองจากการขายทอดตลาดของกรมบังคับคดี โดยให้เจ้าพนักงานที่ดินรับจดทะเบียนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองทุกกรณี จากเดิมสำนักงานที่ดินสาขาบางแห่งรับจดทะเบียน ขณะที่บางแห่งไม่รับจดทะเบียนให้ เนื่องจากเห็นว่าบุคคลที่ซื้อทรัพย์กับบุคคลที่มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์เป็นบุคคลเดียวกันหลังมีการกำหนดแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับเรื่องนี้ชัดเจน ลูกหนี้ซึ่งเป็นผู้ซื้อทรัพย์หรือบ้านของตนเองจากการขายทอดตลาด จะต้องจดทะเบียนนิติ กรรมอสังหาฯ โดยจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมและภาษีเหมือนกับกรณีซื้อขายอสังหาฯทั่วๆ ไป ซึ่งประกอบด้วยค่าจดทะเบียนโอน 2% ของราคาประเมินทุนทรัพย์ ค่าภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ค่าภาษีธุรกิจเฉพาะ 3.3% และค่าอากรแสตมป์ 0.5% ยกเว้นบ้านที่ซื้อขายเข้าข่ายเป็นบ้านมือสองที่อยู่ในเกณฑ์ได้รับลดหย่อนภาษีและค่าธรรมเนียม ตามมาตรการสนับสนุนตลาดบ้านมือสอง เช่น เป็นบ้านที่เคยอยู่อาศัยโดยลูกหนี้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านตามหลักฐานทะเบียนราษฎรเป็นระยะเวลาเกินกว่า 1 ปี จะได้รับลดหย่อนค่าธรรมเนียมโอนจาก 2% เหลือ 0.01% ลดค่าจด จำนองจากอัตราปกติ 1% เหลือ 0.01% ได้รับยกเว้นการจัดเก็บค่าอากรแสตมป์ที่ปกติจัดเก็บในอัตรา 0.5% ส่วนภาษีธุรกิจเฉพาะกรณีมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านไม่น้อยกว่า 1 ปี ไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ส่วนภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ปกติการซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดจากกรมบังคับคดีผู้ซื้อจะเป็นผู้รับภาษี แหล่งข่าวกล่าวว่า ในทางปฏิบัติ เมื่อลูกหนี้ซึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์หรือบ้านอยู่อาศัยซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดของกรมบังคับคดีได้ กรมบังคับคดีจะทำหนังสือให้สำนักงานที่ดินระงับจำนอง โดยจะเสียค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนระงับจำนองตามประเภทไม่มีทุนทรัพย์ ซึ่งจะจัดเก็บในอัตรา 50 บาทต่อแปลง บวกค่าคำขอ 5 บาท และค่าพยานไม่เกิน 20 บาทต่อรายการ จากนั้นจึงให้จดทะเบียนซื้อขายอีกทอดหนึ่ง
จากหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 07 กันยายน พ.ศ. 2549 ปีที่ 30 ฉบับที่ 3825 (3025)

เงินสนับสนุนเพื่อการศึกษา

เงินสนับสนุนเพื่อการศึกษา หักได้ 2 เท่าของจำนวนที่ได้จ่ายไปจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้หลังหักค่าลดหย่อน
รายจ่ายที่สามารถหักได้ จะต้องมาจากการทำโครงการของโรงเรียนแล้วเราให้เงินสนับสนุนช่วยเหลือโครงการดังกล่าว เช่น โครงการตามพระราชดำหริ, โครงการปรับปรุงสถานศึกษา, โครงการสำหรับผู้ด้อยโอกาส

12 ธันวาคม 2549

คำชี้แจงเกี่ยวกับ LTF

คำชี้แจง
ตามที่หนังสือพิมพ์รายวัน ข่าวหุ้น ฉบับลงวันที่ 6 ธันวาคม 2549 ลงข่าวพาดหัวว่า “คลังปิดฉาก LTF เลิกยกเว้นภาษี” โดยเนื้อข่าวกล่าวว่า “ตั้งแต่กรกฎาคม 2550 เป็นต้นไป LTF จะไม่สามารถขอตั้งกองใหม่ต่อไปได้อีก ซึ่งรวมทั้งสิทธิลดหย่อนทางภาษีก็จะหมดไปด้วย ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเห็นชอบแล้ว ว่าจะไม่ต่อมาตรการลดหย่อนภาษีให้อีก” นั้น
สมาคมบริษัทจัดการลงทุนได้สอบถามไปยังสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)แล้ว ได้รับการยืนยันว่า ข่าวดังกล่าวคลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข สิทธิประโยชน์ทางภาษี และกำหนดระยะเวลาของกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ยังคงเป็นไปตามกฎกระทรวง ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร และประกาศสำนักงาน ก.ล.ต. ที่ได้ประกาศไว้ตั้งแต่ปี 2547 ไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกแต่ประการใดทั้งสิ้น
1. กองทุนรวม LTF จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มมูลค่าการลงทุนของผู้ลงทุนสถาบัน(กองทุนรวม) ช่วยเสริมสร้างเสถียรภาพในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการลงทุนแบบเก็งกำไรรายวันของผู้ลงทุนรายย่อย มาลงทุนในกองทุนรวม LTF ที่มีระยะเวลาการลงทุนที่ยาวนานขึ้นถึง 5 ปีปฏิทิน
2. ประกาศสำนักงาน ก.ล.ต. ที่ สน. 23/2547 กำหนดให้บริษัทจัดการสามารถจัดตั้งกองทุนและจดทะเบียนได้ตั้งแต่ปี 2547 จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2550 ซึ่งเป็นข้อกำหนดที่ได้รับทราบกันมา 3 ปีแล้ว โดยเพียง ณ วันที่ 1 ธันวาคม 2549 ทุกบริษัทจัดการ (18 บลจ.) มีการจัดตั้งกองทุนรวม LTF รวมกันทั้งสิ้น 32 กองทุน และมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวม 20,106 ล้านบาท
3. กองทุนรวม LTF ที่จัดตั้ง ต้องมีอายุไม่น้อยกว่า 10 ปี นั่นหมายความว่า กองทุนรวม LTF ที่มีการจัดตั้งและจดทะเบียนช้าที่สุดตามข้อ 2 จะมีอายุกองทุนไม่น้อยกว่าปี 2559
4. ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร กำหนดให้เงินค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวม LTF ไม่เกิน 15% ของเงินได้ และไม่เกิน 300,000 บาท ถือต่อเนื่องเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปีปฏิทิน จะได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งไม่มีข้อกำหนดเรื่องระยะเวลาสิ้นสุดการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีดังกล่าว
5. ในการประชุมหารือร่วมกันระหว่างกรมสรรพากร สำนักงาน ก.ล.ต. บริษัทจัดการ และสมาคมบริษัทจัดการลงทุน เพื่อซักซ้อมความเข้าใจร่วมกัน และเข้าใจตรงกันว่า โครงการการจัดตั้งกองทุนรวม LTF เป็นมาตรการชั่วคราว ควรมีการกำหนดระยะเวลาสิ้นสุด จึงเห็นพ้องให้สมาคมเป็นผู้ออกประกาศที่ สจก.ร. 2/2547 เรื่อง การจัดทำเอกสารเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ทางภาษีของการลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว ซึ่งได้รับการพิจารณาเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต. และกรมสรรพากร โดยมีข้อกำหนดเกี่ยวกับเงื่อนไขการลงทุนที่ผู้ลงทุนจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ... “ต้องเป็นเงินค่าซื้อหน่วยลงทุนในช่วงระยะเวลาไม่เกินปี พ.ศ. 2559 เท่านั้น”
สรุปคือ บริษัทจัดการจัดตั้งและจดทะเบียนกองทุนรวม LTF ใหม่ๆ เพิ่มได้อีกจนถึงมิถุนายน 2550 และขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวม LTF ที่จัดตั้งไว้แล้วนั้นได้เรื่อยไป ส่วนผู้ลงทุนสามารถซื้อกองทุนรวม LTF ใดๆ กับบลจ. ใดก็ได้ และได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีตามเงื่อนไขเดิมทุกปี จนถึงสิ้นปี พ.ศ. 2559 และผู้ลงทุนที่ซื้อหน่วยลงทุนในช่วงปีสุดท้าย(2559) ต้องถือหน่วยลงทุนนั้นต่อเนื่องไปอีก 5 ปีปฏิทินจึงจะถือว่าปฏิบัติได้ตามเงื่อนไข
นายวีรโชติ จิรบวรพงศา
เลขาธิการและผู้อำนวยการสมาคมบริษัทจัดการลงทุน
วันที่ 7 ธันวาคม 2549

01 มีนาคม 2549

รายจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ยืม

ในสัปดาห์นี้ขอนำประเด็นรายจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ยืม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน ตามมาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร
มาประเด็น ปุจฉา-วิสัชนา เพิ่มเติมดังนี้
ปุจฉา มีหลักเกณฑ์ในการพิจารณารายจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ยืมว่าอย่างไร
วิสัชนา รายจ่ายดอกเบี้ย (INTEREST EXPENSE) จากการกู้ยืมเงินที่ได้จ่ายไปในระหว่างซื้อทรัพย์สินหรือก่อสร้างอาคารหรืออสังหาริมทรัพย์ จนกระทั่งทรัพย์สิน หรืออาคาร หรืออสังหาริมทรัพย์นั้นพร้อมที่จะใช้งานได้ตามประสงค์ รวมทั้งดอกเบี้ย เนื่องจากการกู้ยืมเงินเพื่อการซื้อที่ดินก่อนวันที่ ที่ดินพร้อมใช้งานได้ตามประสงค์ ให้ถือเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน ส่วนรายจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ยืมตั้งแต่วันที่ทรัพย์สินพร้อมใช้งานได้นั้นให้ถือเป็นรายจ่ายในการดำเนินงานตามปกติ ซึ่งเป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 375) พ.ศ. 2543 โดยให้ใช้บังคับสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2543 เป็นต้นไป ดังนี้
"มาตรา 3 ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับเงินได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเป็นจำนวนเท่ากับดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อหรือให้ได้มาซึ่งทรัพย์สิน ทั้งนี้ เฉพาะดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ทรัพย์สินดังกล่าวอยู่ในสภาพพร้อมที่จะใช้ได้ตามประสงค์
ดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง"
ที่มาของพระราชกฤษฎีกา ดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องจากคำพิพากษาฎีกาที่ 2347/2536 ระหว่างบริษัท สหธร จำกัด โจทก์ และกรมสรรพากร จำเลย ซึ่งศาลได้มีคำพิพากษาว่า
"ที่ดินที่โจทก์ซื้อมาเงินกู้ เป็นทรัพย์สินที่เป็นทุนรอนของโจทก์ เงินที่โจทก์จ่ายเป็นค่าซื้อที่ดินจึงเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุนตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี (5) และดอกเบี้ยของเงินกู้ดังกล่าว แม้จะไม่เป็นรายจ่ายที่ทำให้โจทก์ได้ที่ดินมาโดยตรง แต่ก็เป็นรายจ่ายที่เกิดจากการกู้ยืมเงินมาซื้อที่ดิน ถือว่าเป็นรายจ่ายต่อเนื่องที่เป็นผลให้โจทก์ได้รับเงินกู้จากสถาบันการเงินมาซื้อที่ดิน ย่อมเป็นส่วนหนึ่งของค่าซื้อที่ดินซึ่งเป็นต้นทุน หาใช่ค่าใช้จ่ายธรรมดาในการดำเนินธุรกิจการค้าหากำไรของโจทก์ไม่ ดังนั้น ดอกเบี้ยอันเกิดจากการที่โจทก์กู้ยืมเงินมาซื้อที่ดินเพื่อนำไปให้ผู้อื่นเช่า จึงเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุนเช่นเดียวกับค่าซื้อที่ดิน ไม่อาจนำมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี (5)
แม้ที่ดินกับอาคารจะเป็นอสังหาริมทรัพย์เหมือนกัน แต่สภาพและหลักเกณฑ์ในการหักค่าสึกหรอ และค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินสองประเภทนี้หาเหมือนกันไม่ กล่าวคือ สภาพของอาคารย่อมสึกหรอ และเสื่อมราคาไปตามกาลเวลา และพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน (ฉบับที่ 145) พ.ศ.2527 มาตรา 4(1) ยอมให้นำมูลค่าต้นทุนของอาคารหักค่าสึกหรอ และค่าเสื่อมราคาของอาคารได้เป็นปีๆ ไป ตามอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ ส่วนสภาพของที่ดินนั้น ไม่อาจสึกหรอและเสื่อมราคาได้ และพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าวมาตรา 4(5) ไม่ยอมให้นำมูลค่าต้นทุนของที่ดินมาหักค่าสึกหรอ และค่าเสื่อมราคา ดังนั้น จึงนำดอกเบี้ยของเงินกู้เพื่อซื้อที่ดินมาเปรียบเทียบกับดอกเบี้ยของเงินกู้เพื่อซื้ออาคารไม่ได้ ดอกเบี้ยของเงินกู้เพื่อซื้อที่ดิน จึงนำมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิไม่ได้"
ผลของคำพิพากษาดังกล่าว ทำให้เกิดความสับสน และยุ่งยากตามแนวทางปฏิบัติทางภาษีอากรที่ไม่มีความสอดคล้องกับหลักปฏิบัติในทางบัญชี ดังนั้น เพื่อเป็นการขจัดปัญหาดังกล่าว และเพื่อเป็นการบรรเทาภาระภาษีให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งได้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหรือให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินในการประกอบกิจการ จึงได้ตราพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 375) พ.ศ. 2543 ดังกล่าว
ต่อมาอธิบดีกรมสรรพากรได้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อหรือให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 92) ลงวันที่ 16 มีนาคม 2544 ไว้ดังต่อไปนี้
1. ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อหรือให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินต้องเป็นดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นโดยตรงเนื่องจากการดำเนินธุรกิจการค้าหรือวิชาชีพหรือเกี่ยวเนื่องโดยตรงต่อทรัพย์สินที่ก่อให้เกิดรายได้
2.ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อหรือให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินเกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีใด ให้ปฏิบัติดังนี้
(1) ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ทรัพย์สินนั้นอยู่ในสภาพพร้อมที่จะใช้ได้ตามประสงค์ ให้ถือเป็นต้นทุนของทรัพย์สินหรือรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน
(2) ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ทรัพย์สินนั้นอยู่ในสภาพพร้อมที่จะใช้ได้ตามประสงค์ ให้ได้รับสิทธิยกเว้นภาษี
กรณีที่เงินกู้มานั้นได้นำไปใช้เพื่อซื้อหรือให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินหรือใช้ใน กิจการอื่นๆ รวมกัน ในการคำนวณตาม (1) และหรือ (2) ให้นำดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการซื้อหรือให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินมาคำนวณเท่านั้น
3. เมื่อได้ปฏิบัติตามข้อ 2(2) แล้ว บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจะต้องไม่นำดอกเบี้ยเงินกู้ยืมดังกล่าวไปรวมคำนวณเป็นต้นทุนของทรัพย์สินหรือรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน หรือไปหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลอีก
จากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ คอลัมน์ไขปัญหาภาษี วันที่ 1 มีนาคม 2549

คลังบทความของบล็อก