14 ธันวาคม 2548

อุปกรณ์ที่มีผลต่อการประหยัดพลังงาน

เพื่อสนับสนุนให้มีการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน ซึ่งเป็นการประหยัดพลังงานในระยะยาว และลดค่าใช้จ่ายพลังงานของรัฐ
จึงมีการกำหนดมาตรการทางด้านภาษีอากร โดยให้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับเงินได้ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการปรับเปลี่ยนทรัพย์สินประเภทอุปกรณ์ที่มีผลต่อการประหยัดพลังงาน ได้แก่ อุปกรณ์ ประสิทธิภาพสูงที่ประหยัดพลังงาน และ/หรือลดความต้องการพลังงาน ซึ่งสามารถทำงานครบกระบวนการด้วยตัวเอง ให้แก่ ผู้ที่ดำเนินการเปลี่ยนทรัพย์สินประเภทอุปกรณ์ที่มีผลต่อการประหยัดพลังงานแทนอุปกรณ์เดิม ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 436) พ.ศ.2548 และประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 145) ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2548 เป็นต้นไป จึงขอนำมาเป็นประเด็นปุจฉา-วิสัชนา ดังนี้
ปุจฉา "ทรัพย์สินประเภทอุปกรณ์ที่มีผลต่อการประหยัดพลังงาน" และ "ค่าใช้จ่ายเพื่อการได้มาซึ่งทรัพย์สินประเภทอุปกรณ์ที่มีผลต่อการประหยัดพลังงาน" หมายความว่าอย่างไร
วิสัชนา "ทรัพย์สินประเภทอุปกรณ์ที่มีผลต่อการประหยัดพลังงาน" หมายความว่า อุปกรณ์ประสิทธิภาพสูงที่ประหยัดพลังงาน และ/หรือลดความต้องการพลังงาน ซึ่งสามารถทำงานครบกระบวนการด้วยตัวเอง ที่ได้รับการรับรองจากกรมพัฒนาพลังงานทดแทน และอนุรักษ์พลังงานว่ามีผลต่อการประหยัดพลังงาน
"ค่าใช้จ่ายเพื่อการได้มาซึ่งทรัพย์สินประเภทอุปกรณ์ที่มีผลต่อการประหยัดพลังงาน" หมายความว่า มูลค่าของอุปกรณ์เครื่องจักร รวมถึงค่าใช้จ่ายในการติดตั้งอุปกรณ์หรือเครื่องจักรที่มีผลต่อการประหยัดพลังงาน
ปุจฉา มีข้อกำหนดเกี่ยวกับการยกเว้นภาษี สำหรับค่าใช้จ่ายเพื่อการได้มาซึ่งทรัพย์สินประเภทอุปกรณ์ที่มีผลต่อการประหยัดพลังงานอย่างไร
วิสัชนา กรณีดังกล่าวมีข้อกำหนดดังนี้
1.ให้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับเงินได้ที่จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการได้มาซึ่งทรัพย์สินประเภทอุปกรณ์ที่มีผลต่อการประหยัดพลังงานเพื่อการปรับเปลี่ยนแทนอุปกรณ์เดิม เป็นจำนวนร้อยละยี่สิบห้าของค่าใช้จ่ายนั้น เฉพาะในส่วนที่ไม่เกินห้าสิบล้านบาท ให้แก่บุคคลธรรมดาเฉพาะในส่วนที่เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (5) (6) (7) หรือ (8) และบริษัท และห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด
ทรัพย์สินประเภทอุปกรณ์ที่มีผลต่อการประหยัดพลังงาน ต้องเป็นทรัพย์สินที่ไม่เคยผ่านการใช้งาน โดยต้องได้มา และพร้อมใช้งานได้ในระหว่างวันที่ 6 ตุลาคม 2548 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2549
2.ให้ยกเว้นตามส่วนเฉลี่ยเป็นจำนวนเท่ากันของจำนวนเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษี สำหรับระยะเวลาห้าปี นับแต่ปีภาษีแรก หรือรอบระยะเวลาบัญชีแรกที่ได้ทรัพย์สินดังกล่าวมา และพร้อมใช้งานได้ ทั้งนี้ ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 145) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับเงินได้ที่จ่ายเป็นค่าใช้จ่าย เพื่อการได้มาซึ่งทรัพย์สินประเภทอุปกรณ์ที่มีผลต่อการประหยัดพลังงาน ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนแทนอุปกรณ์เดิม ลงวันที่ 6 ตุลาคม 2548
ปุจฉา มีหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับเงินได้ที่จ่ายเป็นค่าใช้จ่าย เพื่อการได้มาซึ่งทรัพย์สินประเภทอุปกรณ์ที่มีผลต่อการประหยัดพลังงาน ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนแทนอุปกรณ์เดิมอย่างไร
วิสัชนา กรณีดังกล่าวมีหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ดังนี้
1.ทรัพย์สินประเภทอุปกรณ์เดิมต้องมีหลักฐานการได้มาซึ่งทรัพย์สิน ไม่ว่าจะเป็นใบเสร็จรับเงิน ใบกำกับภาษี ใบส่งสินค้า ใบแจ้งหนี้ สัญญาซื้อขายโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน บัญชีทรัพย์สิน หรือเอกสารอื่นใดในทำนองเดียวกัน และทรัพย์สินประเภทอุปกรณ์ที่มีผลต่อการประหยัดพลังงานที่นำมาปรับเปลี่ยนต้องเป็นการได้มาโดยมีค่าตอบแทน และพร้อมใช้งานได้ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2549
2.ทรัพย์สินประเภทอุปกรณ์ที่มีผลต่อการประหยัดพลังงานที่นำมาปรับเปลี่ยนแทนอุปกรณ์เดิมต้องเป็นทรัพย์สินประเภทเดียวกันกับทรัพย์สินประเภทอุปกรณ์เดิมก่อนมีการปรับเปลี่ยน
3.ผู้ประกอบการเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินได้ที่จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการได้มาซึ่งทรัพย์สินประเภทอุปกรณ์ที่มีผลต่อการประหยัดพลังงาน ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนแทนอุปกรณ์เดิม ต้องเป็นผู้ประกอบการซึ่งมีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (5) (6) (7) หรือ (8) และยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาโดยขอใช้สิทธิหักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควร และหากผู้ประกอบการดังกล่าวยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยขอใช้สิทธิหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาในปีภาษีใด ผู้ประกอบการดังกล่าวไม่มีสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตั้งแต่ปีภาษีนั้น
4.ผู้ประกอบการที่ประสงค์จะขอรับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ ต้องยื่นคำขอต่อกรมพัฒนาพลังงานทดแทน และอนุรักษ์พลังงานให้ตรวจสอบและได้รับหนังสือรับรองว่าเป็นอุปกรณ์ที่มีผลต่อการประหยัดพลังงานตามหลักเกณฑ์ที่กรมพัฒนาพลังงานทดแทน และอนุรักษ์พลังงานกำหนด และหากได้ขายทรัพย์สินดังกล่าวในปีใด ผู้ประกอบการดังกล่าวไม่มีสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตั้งแต่ปีที่ขายทรัพย์สินดังกล่าวนั้น
5.ผู้ประกอบการที่จะขอรับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ในกรณีนี้ ต้องไม่ได้รับสิทธิประโยชน์หรืออยู่ระหว่างการพิจารณาขอรับสิทธิประโยชน์สนับสนุนจากส่วนราชการโดยตรงเพื่อการส่งเสริมการลงทุนด้านอนุรักษ์พลังงานโครงการอื่นใด
จากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ คอลัมน์ไขปัญหาภาษี วันที่ 14 ธันวาคม 2548

ไม่มีความคิดเห็น:

คลังบทความของบล็อก