23 พฤศจิกายน 2548

การคำนวณเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทย

ตามมาตรา 9 มาตรา 65 ทวิ (5)(8) และมาตรา 79/4 แห่งประมวลรัษฎากร (6)
ในสัปดาห์นี้ขอนำประเด็นแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการคำนวณเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทยตามมาตรา 9 มาตรา 65 ทวิ (5)(8) และมาตรา 79/4 แห่งประมวลรัษฎากร ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.132/2548 ที่เพิ่งออกมาใหม่เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2548 แต่มีผลใช้บังคับย้อนกลับไป ณ วันที่ 1 มีนาคม 2548 จึงขอนำมาเป็นประเด็น ปุจฉา-วิสัชนา ต่อจากสัปดาห์ก่อนดังนี้
ปุจฉา มีแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับแสดงมูลค่าสินค้าหรือของบริการและจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นหน่วยเงินตราไทยในใบกำกับภาษี กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียน ซึ่งประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการและมีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษีไม่ว่าแบบเต็มรูปหรืออย่างย่อ ตามมาตรา 86/4 มาตรา 86/5 มาตรา 86/6 และมาตรา 86/7 แห่งประมวลรัษฎากร โดยผู้ประกอบการจดทะเบียนได้ตกลงราคาสินค้าหรือค่าบริการเป็นหน่วยเงินตราต่างประเทศ ไม่ว่าจะมีข้อตกลงให้ออกใบแจ้งหนี้เป็นเงินบาทหรือชำระราคาสินค้าหรือค่าบริการเป็นเงินบาท อย่างไร
วิสัชนา กรณีดังกล่าว ผู้ประกอบการจดทะเบียนจะต้องแสดงมูลค่าสินค้าหรือของบริการ และจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นหน่วยเงินตราไทยในใบกำกับภาษี โดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราตามวิธีการดังต่อไปนี้ เป็นอัตราแลกเปลี่ยนในการคำนวณเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทย ทั้งนี้ ตามมาตรา 9 แห่งประมวลรัษฎากร และประกาศกระทรวงการคลัง เรื่องอัตราและเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทยตามมาตรา 9 แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2548 และเมื่อได้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราตามวิธีการใดวิธีการหนึ่งแล้ว ต้องใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตรานั้นตลอดไป เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรจึงจะเปลี่ยนแปลงวิธีการได้
1.อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราของธนาคารพาณิชย์ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ที่ได้ประกาศไว้ในการคำนวณเงินตราต่างประเทศ เป็นเงินตราไทยในแต่ละวัน (อัตราซื้อ) หรือ
2.อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราตามอัตราอ้างอิงประจำวันที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศไว้ในการคำนวณเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทยในแต่ละวัน (อัตราซื้อถัวเฉลี่ย)
กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนได้รับชำระราคาสินค้าและบริการด้วยเช็ค ให้คำนวณมูลค่าของสินค้าหรือของบริการและจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นหน่วยเงินตราไทยตามวันที่ลงในเช็ค และให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทย
กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรให้ออกใบกำกับภาษีเป็นเงินตราต่างประเทศ ตามมาตรา 86/4 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร ผู้ประกอบการจดทะเบียนต้องระบุอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทยตามมาตรา 9 แห่งประมวลรัษฎากรไว้ในใบกำกับภาษีด้วย
ปุจฉา กรณีบริษัท ก. จำกัด ขายเม็ดพลาสติกให้แก่บริษัท ข. จำกัด โดยตกลงราคาสินค้าเป็นหน่วยเงินตราต่างประเทศ หากบริษัท ก. จำกัด ส่งมอบสินค้าในวันพฤหัสบดี ที่ 3 มีนาคม 2548 วันเสาร์ ที่ 9 เมษายน 2548 และวันจันทร์ ที่ 18 เมษายน 2548 บริษัท ก. จำกัด จะใช้อัตราแลกเปลี่ยนในการออกใบกำกับภาษีอย่างไร
วิสัชนา บริษัท ก. จำกัด มีสิทธิใช้อัตราแลกเปลี่ยนในการออกใบกำกับภาษี ดังนี้
ปุจฉา บริษัท ค. จำกัด ประกอบกิจการให้บริการเป็นที่ปรึกษา ได้ให้บริการแก่บริษัท ง. จำกัด โดยตกลงราคาค่าบริการเป็นหน่วยเงินตราต่างประเทศ บริษัท ค.จำกัด ออกใบแจ้งหนี้ในวันศุกร์ ที่ 11 มีนาคม 2548 แต่บริษัท ง. จำกัด ชำระราคาค่าบริการในวันพุธ ที่ 16 มีนาคม 2548 บริษัท ค. จำกัด จะใช้อัตราแลกเปลี่ยนในการออกใบกำกับภาษีอย่างไร
วิสัชนา บริษัท ค. จำกัด มีสิทธิใช้อัตราแลกเปลี่ยนในการออกใบกำกับภาษีดังนี้
1.ใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา (อัตราซื้อ) ของธนาคารพาณิชย์ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ที่ได้ประกาศไว้ในการคำนวณเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทยในวันพุธ ที่ 16 มีนาคม 2548 หรือ
2.ใช้อัตราและเปลี่ยนเงินตราตามอัตราอ้างอิงประจำวัน (อัตราซื้อถัวเฉลี่ยซึ่งจะเป็น SIGHT หรือ T/T ก็ได้) ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศไว้ ณ วันพุธ ที่ 16 มีนาคม 2548 ซึ่งเป็นอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยของเงินสกุลต่างๆ ณ สิ้นวันทำการประจำวันอังคาร ที่ 15 มีนาคม 2548
จากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ คอลัมน์ไขปัญหาภาษี วันที่ 23 พฤศจิกายน 2548

ไม่มีความคิดเห็น:

คลังบทความของบล็อก