16 พฤศจิกายน 2548

การคำนวณเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทย

ตามมาตรา 9 มาตรา 65 ทวิ (5)(8) และมาตรา 79/4 แห่งประมวลรัษฎากร (5)
ในสัปดาห์นี้ขอนำประเด็นแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการคำนวณเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทยตามมาตรา 9 มาตรา 65(5)(8) และมาตรา 79/4 แห่งประมวลรัษฎากร ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.132/2548 ที่เพิ่งออกมาใหม่เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2548 แต่มีผลใช้บังคับย้อนกลับไป ณ วันที่ 1 มีนาคม 2548 จึงขอนำมาเป็นประเด็น ปุจฉา - วิสัชนา ต่อจากสัปดาห์ก่อนดังนี้
ปุจฉา บริษัท ค. จำกัด บริษัท ค. จำกัด จ่ายเงินค่าดอกเบี้ยให้แก่บริษัทในต่างประเทศในวันจันทร์ ที่ 18 เมษายน 2548 และบริษัท ค. จำกัด มีสิทธิใช้อัตราแลกเปลี่ยนในการยื่นแบบ ภ.ง.ด.54 อย่างไร
วิสัชนา บริษัท ค. จำกัด มีสิทธิใช้อัตราแลกเปลี่ยนในการยื่นแบบ ภ.ง.ด.54 ดังนี้
1. เลือกใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา ตามอัตราขายของธนาคารพาณิชย์ที่ได้ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ที่ได้ประกาศไว้ในการคำนวณเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทยในวันจันทร์ ที่ 15 เมษายน 2548
2. เลือกใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราตามอัตราอ้างอิงประจำวัน ตามอัตราถัวเฉลี่ยที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศไว้ ณ วันจันทร์ ที่ 25 เมษายน 2548 ซึ่งเป็นอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยของเงินสกุลต่างๆ ณ สิ้นวันทำการประจำวันศุกร์ ที่ 22 เมษายน 2548 เนื่องจากวันเสาร์ ที่ 23 และวันอาทิตย์ ที่ 24 เมษายน 2548 เป็นวันหยุดราชการ
ปุจฉา บริษัท ง. จำกัด จ่ายเงินค่าบริการเช่าพื้นที่บนเวบไซต์(Web Site) ให้แก่บริษัทในต่างประเทศในวันศุกร์ ที่ 29 เมษายน 2548 เวลาประมาณ 13.00 น. บริษัท ง. จำกัด มีสิทธิใช้อัตราแลกเปลี่ยนในการยื่นแบบ ภ.พ.36 และแบบ ภ.ง.ด.54 อย่างไร
วิสัชนา บริษัท ง. จำกัด มีสิทธิเลือกใช้อัตราแลกเปลี่ยนในการยื่นแบบ ภ.พ.36 และ ภ.ง.ด.54 ดังนี้
1. เลือกใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา ตามอัตราขายของธนาคารพาณิชย์ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ที่ได้ประกาศไว้ในการคำนวณเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทยในวันศุกร์ ที่ 29 เมษายน 2548 หรือ
2. เลือกใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราตามด้วยอัตราอ้างอิงประจำวัน ตามอัตราขายถัวเฉลี่ยที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศไว้ ณ วันศุกร์ ที่ 29 เมษายน 2548 ซึ่งเป็นอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยของเงินสกุลต่างๆ ณ สิ้นวันทำการประจำวันพฤหัสบดีที่ 28 เมษายน 2548 ปุจฉา บริษัท ฉ. จำกัด จ่ายเงินเดือนให้แก่พนักงานซึ่งเป็นชาวต่างประเทศทุกวันที่ 30 ของเดือนโดยการโอนเงินเดือนของพนักงานเข้าบัญชีธนาคารของพนักงาน ซึ่งในวันที่ 30 เมษายน 2548 ตรงกับวันเสาร์ บริษัท จ. จำกัด มีสิทธิใช้อัตราแลกเปลี่ยนในการยื่นแบบ ภ.ง.ด.1
วิสัชนา บริษัท ฉ. จำกัด มีสิทธิเลือกใช้อัตราแลกเปลี่ยนในการยื่นแบบ ภ.ง.ด.1 ดังนี้
1. เลือกใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา ตามอัตราขายของธนาคารพาณิชย์ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ที่ได้ประกาศไว้ในการคำนวณเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทยในวันศุกร์ ที่ 29 เมษายน 2548 หรือ
2. เลือกใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราตามอัตราอ้างอิงประจำวัน ตามอัตราขายถัวเฉลี่ยที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ประกาศไว้ ณ วันศุกร์ ที่ 29 เมษายน 2548 ซึ่งเป็นอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยของเงินสกุลต่างๆ ณ สิ้นวันทำการประจำวันศุกร์ ที่ 29 เมษายน 2548 เนื่องจากในวันทำการสุดท้ายของเดือนหนึ่งเดือนใด ธนาคารแห่งประเทศไทย จะออกประกาศอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยของเงินสกุลต่างๆ ณ สิ้นวันทำการนั้นอีกหนึ่งฉบับปุจฉา การออกใบกำกับภาษี สำหรับการขายสินค้าและการให้บริการกรณีใดบ้างที่ไม่ต้องปฏิบัติในการใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราเป็นอัตราแลกเปลี่ยนในการคำนวณเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทย
วิสัชนา การออกใบกำกับภาษีกรณีพิเศษตามมาตรา 86/5 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับการขายสินค้าและการให้บริการดังต่อไปนี้ ไม่ต้องปฏิบัติเกี่ยวกับการใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราเป็นอัตราแลกเปลี่ยนในการคำนวณเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทย
1.การออกใบกำกับภาษีกรณีการขายสินค้าโดยการส่งออก ซึ่งผู้ประกอบการจดทะเบียนได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ผู้ประกอบการจดทะเบียนมีสิทธิใช้ใบกำกับสินค้าหรืออินวอยซ์ ซึ่งผู้ส่งออกได้ออกเป็นปกติตามประเพณีทางการค้าระหว่างประเทศเป็นใบกำกับภาษี ถ้าใบกำกับสินค้าหรืออินวอยซ์ได้ออกเป็นเงินตราต่างประเทศ ใบกำกับภาษีในกรณีดังกล่าวจึงแสดงมูลค่าของสินค้าเป็นหน่วยเงินตราต่างประเทศได้
2. การออกใบกำกับภาษีกรณีการให้บริการที่กระทำในราชอาณาจักรและได้มีการใช้บริการนั้นในต่างประเทศ ซึ่งผู้ประกอบการจดทะเบียนได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ผู้ประกอบการจดทะเบียนมีสิทธิใช้ใบแจ้งหนี้หรืออินวอยซ์ซึ่งได้ออกเป็นปกติตามประเพณีทางการค้าระหว่างประเทศเป็นใบกำกับภาษี ถ้าใบแจ้งหนี้หรืออินวอยซ์ได้ออกเป็นหน่วยเงินตราต่างประเทศ ใบกำกับภาษีในกรณีดังกล่าวจึงแสดงมูลค่าของสินค้าเป็นหน่วยเงินตราต่างประเทศได้
3.การออกใบกำกับภาษีสำหรับการให้บริการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศโดยอากาศยาน ผู้ประกอบการมีสิทธิใช้แอร์เวย์บิลหรือเฮ้าส์แอร์เวย์บิลที่ผู้ขนส่งหรือตัวแทนรับขนส่งได้ออกเป็นปกติตามประเพณีทางการค้าระหว่างประเทศเป็นใบกำกับภาษี ถ้าแอร์เวย์บิล หรือเฮ้าส์แอร์เวย์บิลได้ออกเป็นหน่วยเงินตราต่างประเทศ ใบกำกับภาษีดังกล่าวจึงแสดงมูลค่าของบริการเป็นหน่วยเงินตราต่างประเทศได้
จากหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ คอลัมน์ไขปัญหาภาษี วันที่ 16 พฤศจิกายน 2548

ไม่มีความคิดเห็น:

คลังบทความของบล็อก