09 พฤศจิกายน 2548

การคำนวณเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทย

ตามมาตรา 9 มาตรา 65 ทวิ (5)(8) และมาตรา 79/4 แห่งประมวลรัษฎากร (4)
ในสัปดาห์นี้ขอนำประเด็นแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการคำนวณเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทยตามมาตรา 9 มาตรา 65(5)(8) และมาตรา 79/4 แห่งประมวลรัษฎากร ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.132/2548 ที่เพิ่งออกมาใหม่เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2548 แต่มีผลใช้บังคับย้อนกลับไป ณ วันที่ 1 มีนาคม 2548 จึงขอนำมาเป็นประเด็น ปุจฉา - วิสัชนา ต่อจากสัปดาห์ก่อนดังนี้
ปุจฉา มีแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเพื่อการคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามมาตรา 3 เตรส มาตรา 50 มาตรา 69 ทวิ และมาตรา 69 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร การหักภาษีตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร และการนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 83/6 แห่งประมวลรัษฎากร อย่างไร
วิสัชนา การหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามมาตรา 3 เตรส มาตรา 50 มาตรา 69 ทวิและมาตรา 69 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร การหักภาษีตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร และการนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 83/6 แห่งประมวลรัษฎากร กรณีการนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นหน่วยเงินตราต่างประเทศ ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมิน หรือผู้มีหน้าที่นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มต้องคำนวณจำนวนภาษีที่ต้องหัก และนำส่งโดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราตามวิธีการดังต่อไปนี้ เป็นอัตราแลกเปลี่ยนในการคำนวณเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทย
ทั้งนี้ ตามมาตรา 9 แห่งประมวลรัษฎากร และประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทยตามมาตรา 9 แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548
1. อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราของธนาคารพาณิชย์ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ที่ได้ประกาศไว้ในการคำนวณเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทยในแต่ละวัน (อัตราขาย) หรือ 2. อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราตามอัตราอ้างอิงประจำวันที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศไว้ในการคำนวณเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทยในแต่ละวัน (อัตราขายถัวเฉลี่ย)
อนึ่ง การใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราตามวิธีการดังกล่าว เมื่อได้ใช้อัตราและเปลี่ยนเงินตราตามวิธีการหนึ่งวิธีการใดแล้ว ต้องใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตรานั้นตลอดไป เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรจึงจะเปลี่ยนแปลงวิธีการได้
ทั้งนี้ ตามข้อ 2 วรรคสองของประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทยตามมาตรา 9 แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548
อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่จ่ายเงินได้พึงประเมินหรือจำหน่ายเงินกำไรตามกรณีดังกล่าวด้วยเช็ค ให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมิน หรือผู้มีหน้าที่นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มคำนวณจำนวนภาษีที่ต้องหัก และนำส่งตามวันที่ลงในเช็ค และให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทยตามวิธีดังกล่าว
ปุจฉา บริษัท ก. จำกัด จ่ายเงินค่าลิขสิทธิ์ให้แก่บริษัทในต่างประเทศในวันพฤหัสบดี ที่ 3 มีนาคม 2548 บริษัท ก.จำกัด มีสิทธิเลือกใช้อัตราแลกเปลี่ยนในการคำนวณเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทย เพื่อการยื่น แบบ ภ.ง.ด.54 อย่างไร
วิสัชนา กรณีดังกล่าวบริษัท ก.จำกัด มีสิทธิเลือกใช้อัตราแลกเปลี่ยนในการคำนวณเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทย เพื่อการยื่น แบบ ภ.ง.ด.54 ดังนี้ ซึ่งเมื่อได้เลือกใช้อัตราและเปลี่ยนเงินตราตามวิธีการหนึ่งวิธีการใดแล้ว ต้องใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตรานั้นตลอดไป เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรจึงจะเปลี่ยนแปลงวิธีการได้
1. ใช้อัตราขายของธนาคารพาณิชย์ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ที่ได้ประกาศไว้ในการคำนวณเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทย ในวันพฤหัสบดี ที่ 3 มีนาคม 2548 หรือ
2. ใช้อัตราขายถัวเฉลี่ย อันเป็นอัตราอ้างอิงประจำวันที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศไว้ ณ วันพฤหัสบดี ที่ 3 มีนาคม 2548 ซึ่งเป็นอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยของเงินสกุลต่างๆ ณ สิ้นวันทำการประจำวันพุธ ที่ 2 มีนาคม 2548
ปุจฉา บริษัท ข. จำกัด เป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย มีบริษัทต่างประเทศเป็นผู้ถือหุ้น หลังจากเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจากฐานกำไรสุทธิแล้วจึงได้จ่ายเงินปันผลไปให้ผู้ถือหุ้นที่เป็นบริษัทต่างประเทศ บริษัท ข. จำกัด ในวันจันทร์ ที่ 18 เมษายน 2548 ต้องใช้อัตราแลกเปลี่ยนในการคำนวณเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทย เพื่อการยื่นแบบ ภ.ง.ด.54 นำส่งภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากรอย่างไรวิสัชนา เนื่องจากบริษัท ข. จำกัด เป็นบริษัทจำกัดที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย จึงใช้เงินตราไทยในการบันทึกบัญชี และจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นทุกราย ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาในประเทศไทยหรือในต่างประเทศ หรือผู้ถือหุ้นที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลทั้งที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยหรือที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ จึงไม่มีกรณีที่ต้องใช้อัตราแลกเปลี่ยนเพื่อการคำนวณภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย สำหรับเงินปันผลที่จ่ายให้แก่บริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศดังกล่าว แต่ประการใด
ปุจฉา บริษัท ค. จำกัด บริษัท ค. จำกัด จ่ายเงินค่าดอกเบี้ยให้แก่บริษัทในต่างประเทศในวันจันทร์ที่ 18 เมษายน 2548 และบริษัท ค. จำกัด มีสิทธิใช้อัตราแลกเปลี่ยนในการยื่นแบบ ภ.ง.ด.54 อย่างไร วิสัชนา บริษัท ค. จำกัด มีสิทธิใช้อัตราแลกเปลี่ยนในการยื่นแบบ ภ.ง.ด.54 ดังนี้
1. เลือกใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา ตามอัตราขายของธนาคารพาณิชย์ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ที่ได้ประกาศไว้ในการคำนวณเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทยในวันจันทร์ ที่ 18 เมษายน 2548 หรือ
2. เลือกใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราตามอัตราอ้างอิงประจำวัน ตามอัตราขายถัวเฉลี่ยที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศไว้ ณ วันจันทร์ ที่ 18 เมษายน 2548 ซึ่งเป็นอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยของเงินสกุลต่างๆ ณ สิ้นวันทำการประจำวันอังคาร ที่ 12 เมษายน 2548 เนื่องจากวันพุธที่ 13 วันพฤหัสบดี ที่ 14 วันศุกร์ ที่ 15 เมษายน 2548 เป็นวันหยุดทำการของธนาคาร และวันเสาร์ ที่ 16 วันอาทิตย์ ที่ 17 เมษายน 2548 เป็นวันหยุดราชการ
จากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ คอลัมน์ไขปัญหาภาษี วันที่ 9 พฤศจิกายน 2548

ไม่มีความคิดเห็น:

คลังบทความของบล็อก