26 ตุลาคม 2548

การคำนวณเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทยตาม

มาตรา 9 มาตรา 65 ทวิ (5)(8) และมาตรา 79/4 แห่งประมวลรัษฎากร (2)
ในสัปดาห์นี้ขอนำประเด็นแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการคำนวณเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทยตามมาตรา 9 มาตรา 65(5)(8) และมาตรา 79/4 แห่งประมวลรัษฎากร ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.132/2548 จึงขอนำมาเป็นประเด็น ปุจฉา - วิสัชนา ต่อจากสัปดาห์ก่อนดังนี้
ปุจฉา แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับเงินตรา ทรัพย์สินและหนี้สินที่มีค่าหรือราคาเป็นเงินตราต่างประเทศที่รับมาหรือจ่ายไประหว่างรอบระยะเวลาบัญชี ตามมาตรา 65 ทวิ (5) แห่งประมวลรัษฎากร อย่างไร
วิสัชนา กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้รับมาหรือจ่ายไปซึ่งเงินตรา ทรัพย์สินหรือหนี้สิน ซึ่งมีค่าหรือราคาเป็นเงินตราต่างประเทศในระหว่างรอบระยะเวลาบัญชี ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลดังกล่าวคำนวณค่าหรือราคาของเงินตรา ทรัพย์สิน หรือหนี้สินเป็นเงินตราไทยตามราคาตลาดในวันที่รับมาหรือจ่ายไปนั้น ทั้งนี้ ตามมาตรา 65 ทวิ (5) วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร
1. ราคาตลาดในวันที่รับมาหรือจ่ายไป กรณีการได้รับเงินหรือจ่ายเงินเป็นเงินตราต่างประเทศ (กรณีรับจ่ายเงินสด) หมายถึง อัตราแลกเปลี่ยน (อัตราซื้อหรืออัตราขาย) ที่ได้รับมาหรือจ่ายไปจริง ในทางปฏิบัติจากการนำเงินสกุลต่างประเทศไปแลกเป็นเงินสกุลบาท
2. ราคาตลาดในวันที่รับมาหรือจ่ายไป กรณีการบันทึกบัญชี ณ วันที่เกิดรายการทรัพย์สิน หรือ
หนี้สิน (กรณีที่ยังมิได้รับจ่ายเป็นเงินสด) หมายถึง
(1) อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราของธนาคารพาณิชย์ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ที่ได้ประกาศไว้ในการคำนวณเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทยในแต่ละวัน (อัตราซื้อหรืออัตราขาย) หรือ
(2) อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราตามอัตราอ้างอิงประจำวันที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศไว้ในการคำนวณเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทยในแต่ละวัน (อัตราซื้อถัวเฉลี่ยหรืออัตราขายถัวเฉลี่ย)
(ก) กรณีอัตราซื้อถัวเฉลี่ยอาจใช้อัตรา SIGHT หรือ T/T ก็ได้ หมายถึงอัตราซื้อถัวเฉลี่ยที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศไว้ ณ วันทำการนั้นๆ ซึ่งเป็นอัตราแลกเปลี่ยนซื้อถัวเฉลี่ยของเงินสกุลต่าง ๆ ณ สิ้นวันทำการก่อน
(ข) กรณีอัตราขายหมายถึงอัตราขายถัวเฉลี่ยที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศไว้ ณ วันทำการนั้นๆ ซึ่งเป็นอัตราแลกเปลี่ยนขายถัวเฉลี่ยของเงินสกุลต่าง ๆ ณ สิ้นวันทำการก่อน
ซึ่งผู้ประกอบการมีสิทธิเลือกถือปฏิบัติตามข้อ (1) หรือ (2) อย่างใดอย่างหนึ่ง และเมื่อได้เลือกถือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ใดแล้ว ให้ถือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์นั้นตลอดไป ห้ามมิให้เปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ตามหลักความสม่ำเสมอ
ปุจฉา แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับเงินตรา ทรัพย์สินและหนี้สินที่มีค่าหรือราคาเป็นเงินตราต่างประเทศคงเหลืออยู่ในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี ตามมาตรา 65 ทวิ (5) แห่งประมวลรัษฎากร อย่างไร
วิสัชนา มาตรา 65 ทวิ (5) แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับเงินตรา ทรัพย์สินและหนี้สินที่มีค่าหรือราคาเป็นเงินตราต่างประเทศคงเหลืออยู่ในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี ดังนี้
กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนอกจากธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินอื่นตามที่รัฐมนตรีกำหนดมีเงินตรา ทรัพย์สิน หรือหนี้สินซึ่งมีค่าหรือราคาเป็นเงินตราต่างประเทศที่เหลืออยู่ในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลดังกล่าวคำนวณค่าหรือราคาของเงินตราหรือทรัพย์สินเป็นเงินตราไทยตามอัตราถัวเฉลี่ยที่ธนาคารพาณิชย์รับซื้อซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยได้คำนวณไว้ และให้คำนวณค่าหรือราคาของหนี้สินเป็นเงินตราไทยตามอัตราถัวเฉลี่ยที่ธนาคารพาณิชย์ขาย ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยได้คำนวณไว้ ทั้งนี้ตามมาตรา 65 ทวิ (5) (ก) แห่งประมวลรัษฎากร
กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามวรรคหนึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินอื่นที่รัฐมนตรีกำหนด มีเงินตรา ทรัพย์สิน หรือหนี้สินซึ่งมีค่าหรือราคาเป็นเงินตราต่างประเทศที่เหลืออยู่ในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลดังกล่าวคำนวณค่าหรือราคาของเงินตรา ทรัพย์สิน หรือหนี้สินเป็นเงินตราไทยตามอัตราถัวเฉลี่ยระหว่างอัตราซื้อและอัตราขายของธนาคารพาณิชย์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้คำนวณไว้ ทั้งนี้ตามมาตรา 65 ทวิ (5) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร
ทรัพย์สิน หรือหนี้สินซึ่งมีค่าหรือราคาเป็นเงินตราต่างประเทศที่เหลืออยู่ในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี ซึ่งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลต้องคำนวณค่าหรือราคาเป็นเงินตราไทยตามวรรคหนึ่งและสอง หมายถึง เงินตรา ทรัพย์สิน หรือหนี้สินที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีสิทธิเรียกร้องที่จะได้รับหรือมีภาระผูกพันที่จะต้องชำระเป็นเงินตราต่างประเทศเป็นจำนวนเงินที่กำหนดไว้แน่นอน เช่น เงินฝากธนาคาร (Cash) ลูกหนี้การค้า (Account Receivable)
ลูกหนี้และตั๋วเงินรับจากการขายสินค้า (Accounts and Notes Receivable) หลักทรัพย์ในความต้องการของตลาด (Marketable Securities) ซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่จะเปลี่ยนแปลงเป็นเงินสดทันทีที่ต้องการ แต่ไม่รวมถึงตราสารทุนซึ่งเป็นเงินลงทุนระยะยาวที่เป็นสกุลเงินตราต่างประเทศเพื่อหวังเงินปันผลในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ
เงินให้กู้ยืมแก่บริษัทในเครือเดียวกัน (Loan to Subsidiaries) ค่าใช้จ่ายล่วงหน้า (Prepaid Expense) เจ้าหนี้จากการซื้อสินค้า (Accounts Payable) ค่าใช้จ่ายค้างจ่าย (Accrued Expense) เป็นต้น
จากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ คอลัมน์ไขปัญหาภาษี วันที่ 26 ตุลาคม 2548

ไม่มีความคิดเห็น:

คลังบทความของบล็อก