05 ตุลาคม 2548

SMEs (3)

สัปดาห์นี้ขอนำประเด็น การเลือกรูปแบบในการประกอบธุรกิจ สำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)
มาปุจฉา-วิสัชนา ดังนี้ครับ
ปุจฉา มีหลักเกณฑ์ในการเลือกรูปแบบการประกอบธุรกิจในฐานะที่เป็นบุคคลธรรมดาคนเดียว หรือห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล หรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์เกี่ยวกับภาษีอากรสูงสุดอย่างไร
วิสัชนา SMEs โดยทั่วไปมีแนวทางในการพิจารณาเลือกรูปแบบการประกอบธุรกิจดังนี้ 1.การพิจารณาจำนวนเงินทุน 2.การพิจารณาจำนวนเงินที่ได้คาดว่าจะได้รับจากการประกอบกิจการ 3.การพิจารณาจำนวนค่าใช้จ่าย และเกณฑ์การหักค่าใช้จ่าย 4.การพิจารณาจากฐานภาษี และอัตราภาษี 5.การพิจารณาจากความน่าเชื่อถือ และความรับผิดชอบต่อบุคคลภายนอก 6.การพิจารณากิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้
ปุจฉา มีหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการพิจารณาจำนวนเงินทุนในการเลือกรูปแบบการประกอบธุรกิจอย่างไร
วิสัชนา การพิจารณาเลือกรูปแบบการประกอบธุรกิจจากจำนวนเงินทุน มีหลักเกณฑ์ดังนี้ 1.กรณีผู้ประกอบการมีเงินทุนเพียงพอที่จะเปิดดำเนินการได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาแหล่งเงินทุนภายนอก และกิจการดังกล่าวมีขนาดเล็ก ควรเลือกประกอบธุรกิจในรูปแบบบุคคลธรรมดาคนเดียว เพราะสามารถดำเนินธุรกิจได้โดยคล่องตัว 2.กรณีที่ผู้ประกอบการสามารถหาผู้ร่วมลงทุน เพื่อดำเนินกิจการในธุรกิจที่มีขนาดไม่ใหญ่นัก และสามารถทำงานร่วมกับบุคคลอื่นได้ดีพอสมควร ควรเลือกประกอบธุรกิจในรูปห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล เพราะแม้จะมีความคล่องตัวน้อยกว่าการประกอบธุรกิจในรูปบุคคลธรรมดาคนเดียวเป็นเจ้าของ แต่ก็ยังมีความคล่องตัวกว่าการประกอบธุรกิจในรูปแบบอื่น 3.กรณีที่ผู้ประกอบการต้องการระดมเงินทุนจากบุคคลจำนวนมาก ควรเลือกประกอบกิจการในรูปบริษัทจำกัด หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล โดยเฉพาะบริษัทจำกัด สามารถแบ่งมูลค่าหุ้นได้ต่ำสุดเพียงหุ้นละ 5 บาท อันอยู่ในวิสัยที่บุคคลทั่วไปที่สนใจร่วมลงทุน สามารถกระทำได้ และสามารถระดมทุนได้อย่างกว้างขวาง
ปุจฉา มีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาเลือกรูปแบบธุรกิจจากจำนวนเงินที่ได้คาดว่าจะได้รับจากการประกอบกิจการอย่างไร
วิสัชนา การพิจารณาเลือกรูปแบบธุรกิจจากจำนวนเงินได้ที่คาดว่าจะได้รับ มีหลักเกณฑ์ดังนี้ 1.กรณีที่คาดว่ามีจำนวนเงินได้ไม่มากนัก ควรเลือกประกอบธุรกิจในรูปบุคคลธรรมดาคนเดียวเป็นเจ้าของ เพราะนอกจากมีความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจแล้ว ยังมีความสะดวกในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งสามารถเลือกหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมา และเสียภาษีเงินได้ในอัตราที่ต่ำกว่าอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลอีกด้วย รวมทั้งมีความสะดวกในการจัดทำบัญชีตามกฎหมายว่าด้วยการบัญชี ซึ่งสามารถทำบัญชีเงินสดเพียงเล่มเดียว 2.กรณีที่เงินได้จากการประกอบกิจการหลายประเภท และมีจำนวนไม่มากนัก ควรแยกตั้งเป็นหน่วยทางภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ในรูปของหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล เพราะนอกจากจะทำให้ขนาดของฐานภาษีเงินได้ และจำนวนเงินภาษีที่ต้องเสียต่ำลงมา และเสียภาษีเงินได้ในอัตราต่ำกว่าอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลอีกด้วย รวมทั้งมีความสะดวกในการจัดทำบัญชีตามกฎหมายว่าด้วยการบัญชี ซึ่งสามารถทำบัญชีเงินสดเพียงเล่มเดียว เช่นเดียวกับกรณีที่ธุรกิจในรูปบุคคลธรรมดาเจ้าของคนเดียว 3.กรณีที่กระทำกิจการที่เป็นโครงการที่มีเงินได้จำนวนเงินมาก และต้องอาศัยความน่าเชื่อถือจากบุคคลอื่น ควรเลือกประกอบธุรกิจในรูปแบบดังต่อไปนี้ (1) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล เพราะบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลต้องจดทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ต่อเจ้าพนักงาน เป็นนิติบุคคล และมีที่ตั้งแน่นอน ซึ่งเจ้าหนี้หรือบุคคลภายนอกสามารถฟ้องร้องได้โดยสะดวก (2) กิจการร่วมค้า (Joint Venture) หรือ Consortium (ก) กิจการร่วมค้า ได้แก่ กิจการที่ดำเนินร่วมกันเป็นทางค้าหรือหากำไรระหว่าง บริษัทกับบริษัท บริษัทกับห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล กับห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล บริษัทและหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล กับบุคคลธรรมดา หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล หรือห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือนิติบุคคลอื่น (ข) โดยทั่วไปไม่ถือเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หากแต่ถือเป็นห้างหุ้นส่วน ตามมาตรา 1012 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ค) ในทางภาษีอากร ถือว่ากิจการร่วมค้าเป็น "บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล" ซึ่งถือเป็นหน่วยทางภาษีอากรแยกต่างหากจากผู้เข้าร่วมค้าแต่ละราย จึงต้องมี และใช้เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรเพื่อการปฏิบัติการทางภาษีอากรในนามของกิจการร่วมค้านั้นๆ (ง) สำหรับกิจการ Consortium โดยทั่วไป มีลักษณะเหมือนกับกิจการร่วมค้า กล่าวคือ ผู้เข้าร่วมกิจการ Consortium ต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอก โดยเฉพาะคู่สัญญาโดยไม่จำกัดจำนวน แต่ผู้ร่วมค้ากิจการ Consortium จะไม่มีการลงทุน และไม่มีการประกอบกิจการร่วมค้ากันเพื่อนำกำไรมาแบ่งกัน เพียงแต่เข้าประมูลงานร่วมกัน เมื่อได้งานแล้วก็จะแบ่งงานกันทำเป็นสัดเป็นส่วนของแต่ละคน จึงไม่ถือเป็นหน่วยทางภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร
จากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ คอลัมน์ไขปัญหาภาษี วันที่ 5 ตุลาคม 2548

ไม่มีความคิดเห็น:

คลังบทความของบล็อก