28 กันยายน 2548

SME (2)

สัปดาห์นี้ขอนำประเด็น "สิทธิประโยชน์ทางภาษีสรรพากรสำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)" มาปุจฉา-วิสัชนา ต่อจากสัปดาห์ก่อนดังนี้ ครับ
ปุจฉา SMEs ที่ได้รับสิทธิประโยชน์เกี่ยวกับอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล มีหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขอย่างไร
วิสัชนา SMEs ที่ได้รับสิทธิประโยชน์เกี่ยวกับการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตรารัษฎากร (ฉบับที่ 394) พ.ศ.2545 และ (ฉบับที่ 431) พ.ศ.2548 ซึ่งกำหนดบัญญัติเกี่ยวกับการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย และมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี ทั้งนี้สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2545 เป็นต้นมา ดังนี้
1.สำหรับกำไรสุทธิในส่วนที่ไม่เกิน 1 ล้านบาท ให้เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลดังนี้
- สำหรับรอบระยะเวลาบัญชี 2545 และ 2546 อัตรา 20% - สำหรับรอบระยะเวลาบัญชี 2547 เป็นต้นไป อัตรา 15%
2.สำหรับกำไรสุทธิในส่วนที่เกิน 1 ล้านบาทแต่ไม่เกิน 3 ล้านบาท ให้เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตรา 25% 3.สำหรับกำไรสุทธิในส่วนที่เกิน 3 ล้านบาทขึ้นไป ให้เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตรา 30%
ปุจฉา กรณีที่ในระหว่างรอบระยะเวลาบัญชีบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีทุนจดทะเบียนเรียกชำระแล้วเกินกว่า 5 ล้านบาท แต่ก่อนวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี ได้จดทะเบียนลดทุนลงเหลือไม่เกิน 5 ล้านบาท เช่นนี้ในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นๆ จะได้สิทธิประโยชน์จากการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลหรือไม่ วิสัชนา เงื่อนไขสำคัญที่ SMEs จะได้สิทธิลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิในส่วนที่ไม่เกิน 3 ล้านบาทดังกล่าว มีเพียงประการเดียว คือ ต้องมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 5 ล้านบาท ดังนั้น แม้ในระหว่างรอบระยะเวลาบัญชี SMEs จะมีทุนจดทะเบียนเรียกชำระแล้วเกินกว่า 5 ล้านบาท แต่ก่อนวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี ได้จดทะเบียนลดทุนลงเหลือไม่เกิน 5 ล้านบาท เช่นนี้ในรอบระยะเวลาบัญชีปีนี้ ก็จะได้สิทธิประโยชน์จากการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 394) พ.ศ.2545 และ (ฉบับที่ 431) พ.ศ.2548
อย่างไรก็ตาม หากก่อนวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาหกเดือนนับแต่วันแรกของรอบระยะเวลาบัญชี SMEs มีทุนจดทะเบียนเรียกชำระแล้วเกินกว่า 5 ล้านบาท ในการยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี SMEs นั้น ยังคงต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปีในอัตรา 30% ของกำไรสุทธิ โดยไม่ได้รับสิทธิประโยชน์เกี่ยวกับการลดอัตราภาษีดังกล่าวแต่อย่างไร จนกว่าจะได้จดทะเบียนลดทุนลงเหลือไม่เกิน 5 ล้านบาท ให้เสร็จสิ้นไปก่อนสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี
ปุจฉา มีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเกี่ยวกับการได้สิทธิประโยชน์ในการหักค่าสึกหรอ และค่าเสื่อมราคาทรัพย์สินถาวรประเภทเครื่องคอมพิวเตอร์ อาคารโรงงาน และเครื่องจักรของผู้ประกอบการ SMEs อย่างไร
วิสัชนา เจตนารมณ์ในการตราพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน (ฉบับที่ 395) พ.ศ.2545 ก็เพื่อให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสามารถหักค่าสึกหรอ และค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินประเภทคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ของคอมพิวเตอร์ให้สอดคล้องกับอายุการใช้งาน และให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วน นิติบุคคลที่เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมสามารถหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาเบื้องต้นสำหรับทรัพย์สินประเภทคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์ของคอมพิวเตอร์ อาคารโรงงาน และเครื่องจักรและอุปกรณ์ของเครื่องจักรได้เป็นกรณีพิเศษ อันเป็นมาตรการหนึ่งในการสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยให้มีผลใช้บังคับสำหรับทรัพย์สินที่ได้มาตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม 2545 เป็นต้นไปดังต่อไปนี้
1.SMEs ที่จะได้สิทธิประโยชน์เกี่ยวกับการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาดังกล่าวต้องมีคุณสมบัติดังนี้ (1) เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ไม่ว่าจะตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยหรือตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ
(2) มีทรัพย์สินถาวรซึ่งไม่รวมที่ดินไม่เกิน 200 ล้านบาท และ (3) มีการจ้างแรงงานไม่เกิน 200 คน
ทั้งนี้โดยไม่คำนึงว่า SMEs จะมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีเป็นจำนวนเท่าใด 2.ทรัพย์สินที่จะได้สิทธิหักค่าสึกหรอ และค่าเสื่อมราคาเป็นกรณีพิเศษ ได้แก่
(1) ทรัพย์สินประเภทคอมพิวเตอร์หรือเครื่องอิเล็กทรอนิกส์แบบอัตโนมัติทำหน้าที่เสมือนสมองกลใช้สำหรับแก้ปัญหาต่างๆ ทั้งที่ง่ายและซับซ้อน โดยวิธีทางคณิตศาสตร์ และอุปกรณ์ของคอมพิวเตอร์ หรือเครื่องมือ เครื่องใช้ เครื่องช่วย หรือเครื่องประกอบกับคอมพิวเตอร์เพื่อให้คอมพิวเตอร์ใช้งานได้ตามวัตถุประสงค์ แต่ไม่รวมถึงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ผู้ประกอบการ SMEs ได้ซื้อหรือได้รับโอนกรรมสิทธิ์เพื่อมีไว้ในการประกอบกิจการของตนเอง ซึ่งกำหนดให้สามารถหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาภายใน 3 ปี และหักค่าสึกหรอ และค่าเสื่อมราคาเบื้องต้นในวันที่ได้ทรัพย์สินนั้นมาในอัตราร้อยละ 40 ของมูลค่าต้นทุน
(2) ทรัพย์สินประเภทอาคารโรงงาน ให้มีสิทธิหักค่าสึกหรอ และค่าเสื่อมราคาเบื้องต้นในวันที่ได้ทรัพย์สินนั้นมาในอัตราร้อยละ 25 ของมูลค่าต้นทุน
(3) ทรัพย์สินประเภทเครื่องจักรและอุปกรณ์ของเครื่องจักร ให้มีสิทธิหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาเบื้องต้นในวันที่ได้ทรัพย์สินนั้นมาในอัตราร้อยละ 40 ของมูลค่าต้นทุน
จากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ คอลัมน์ไขปัญหาภาษี วันที่ 28 กันยายน 2548

ไม่มีความคิดเห็น:

คลังบทความของบล็อก