16 กรกฎาคม 2548

สิทธิในหนี้หลังการชำระบัญชี

บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ต้องเลิกกิจการด้วยเหตุผลทางการบริหารหรือธุรกิจ เช่น โดยการควบเข้าด้วยกันกับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลอื่น ตามมาตรา 73 หรือ
โอนกิจการระหว่างนิติบุคคลด้วยกันตามมาตรา 74 แนว แห่งประมวลรัษฎากรซึ่งบัญญัติให้บริษัทหรือนิติบุคคลที่เข้าควบกันหรือโอนไปนั้น ต้องเลิกกิจการด้วยการจดทะเบียนเลิกกิจการ หรือรวมถึงในกรณีที่ บริษัทหรือนิติบุคคลที่ต้องการเลิกกิจการตามมาตรา 1236 หรือ ตามมาตรา 1237 แห่งประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ ก็ต้องไปดำเนินการขอจดทะเบียนเลิกต่อกระทรวงพาณิชย์ภายใน 14 วันหลังจากที่มีมติประชุมผู้ถือหุ้นให้เลิกกิจการ และในขณะเดียวกัน บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นจะต้องแจ้งต่อเจ้าหนี้ เป็นลายลักษณ์อักษรให้มาดำเนินการเรียกร้องหนี้สินที่มีกับบริษัท หากบริษัทเป็นผู้ประกอบการภาษีมูลค่าเพิ่มก็จะต้องยื่นคำร้องขอจดทะเบียนเลิกเป็นผู้ประกอบการภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ สำนักงานสรรพากรด้วยที่ตนเอง ได้จดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการไว้ภายใน 15 วัน นับแต่ได้เลิกกิจการด้วย
การเลิกกิจการตามกรณีข้างต้น บริษัทต้องมีการชำระบัญชีภายในรอบระยะเวลาบัญชีที่มีการควบหรือโอนกิจการหรือเลิกกิจการที่ในระหว่างที่บริษัท ชำระบัญชียังไม่เสร็จสิ้นก็ยังคงถือว่าบริษัทนั้น ยังคงตั้งอยู่ (มาตรา 1249 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์) ในการชำระบัญชี บริษัทต้องแต่งตั้งผู้ชำระบัญชี ซึ่งตามกรณีเลิกนอกจากล้มละลาย ผู้ชำระบัญชีก็คือ หุ้นส่วนผู้จัดการห้างหรือกรรมการของบริษัท เว้นแต่ข้อสัญญาหรือข้อบังคับของบริษัท จะกำหนดเป็นอย่างอื่น (มาตรา 1251 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์) หน้าที่ของผู้ชำระบัญชีตามมาตรา 1250 แห่งประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ บัญญัติว่าคือ "ชำระสะสางการงานของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นให้เสร็จสิ้นไป กับจัดการใช้หนี้เงิน และแจกจำหน่ายสินทรัพย์ของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้น" จะเห็นได้ว่า หน้าที่ของผู้ชำระบัญชีหลังจากที่บริษัท ได้จดทะเบียนเลิกแล้วนั้น คือ เป็นธุระจัดการงานทุกเรื่องทุกอย่างของบริษัท รวมทั้งเรื่องหนี้สิน ทรัพย์สิน ให้เรียบร้อยก่อนเสร็จสิ้นการชำระบัญชี เมื่อได้มีการจัดการเรื่องหนี้สิน ทรัพย์สิน เป็นที่เรียบร้อยแล้ว กระทรวงพาณิชย์จึงจะอนุมัติให้มีการจดทะเบียนเสร็จสิ้นการชำระบัญชี และนั่นหมายความว่า สถานภาพความเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้ยุติลงโดยสมบูรณ์แล้ว
ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นคือ ในระหว่างดำเนินการชำระบัญชี หากบริษัทมีสถานะเป็นเจ้าหนี้โดยมีลูกหนี้ที่เกิดขึ้นก่อน การจดทะเบียนเลิกกิจการและลูกหนี้รายนั้นยังคงค้างชำระหนี้นั้นอยู่ เมื่อได้หากมีการจดทะเบียนเสร็จสิ้นการชำระบัญชีแล้ว คำถามคือ บริษัทจะยังคงมีสิทธิทวงถามหรือเรียกร้องในหนี้จำนวนนั้นได้อยู่หรือไม่ คำตอบ คือ ไม่ เนื่องจากเมื่อมีการเสร็จสิ้นการชำระบัญชีแล้วก็ถือว่า สิ้นสภาพของนิติบุคคลแล้ว บริษัทที่ชำระบัญชีแล้วนั้น จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องในหนี้อีกต่อไป ขอให้พิจารณาตัวอย่าง ในหนังสือตอบข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0706/ พ/ 10214 ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2547
ข้อเท็จจริง บริษัท ก. ยื่นขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับเดือนภาษีพฤษภาคมและกันยายน 2544 แต่ยังไม่ได้รับคืนบริษัท ได้จดทะเบียนเลิกกิจการ เมื่อ 23 พฤศจิกายน 2544 และเสร็จสิ้นการชำระบัญชี เมื่อ 26 มีนาคม 2545 ต่อมากรมสรรพากรปฏิเสธ ได้แจ้งการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ขอคืนไว้ให้แก่ บริษัทโดยบริษัทได้รับหนังสือแจ้ง เมื่อ 26 มกราคม 2546 (หลังจากเสร็จสิ้นชำระบัญชี 10 เดือน) ผู้ชำระบัญชีได้ยื่นขอรับเงินภาษีคืนแต่กรมสรรพากรปฏิเสธการคืนเงินภาษี จำนวนนั้น
แนววินิจฉัย จากการที่บริษัทได้เสร็จสิ้นการชำระบัญชี เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2545 จึงถือได้ว่า บริษัทได้สิ้นสภาพการเป็นนิติบุคคลแล้ว นับตั้งแต่วันเสร็จสิ้นการชำระบัญชีดังกล่าว กรณีนี้ผู้ชำระบัญชีมีหน้าที่ต้องชำระสะสาง การงานของบริษัทให้เสร็จสิ้นตามหน้าที่ของผู้ชำระบัญชีตามมาตรา 1250 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในการได้ขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ แต่ผู้ชำระบัญชีไม่ได้กระทำการงานให้แล้วเสร็จก่อนชำระบัญชีจึงถือว่า ได้สละการใช้สิทธินั้น ดังนั้น เมื่อบริษัท ก. โดยผู้ชำระบัญชีได้ยื่นขอรับเงินคืน (จากการอนุมัติของกรมสรรพากร) จากสำนักงานสรรพากรหลังสิ้นสภาพนิติบุคคลแล้ว กรมสรรพากรจึงไม่อาจคืนเงินภาษี (ที่อนุมัติแล้ว) ให้แก่บริษัทได้เป็นที่น่าสังเกตว่า กรณีนี้ หากพิจารณาแล้ว การคืนเงินภาษีนั้น ขั้นตอนดำเนินการพิจารณาอำนาจการอนุมัติขึ้นอยู่กับกรมสรรพากร แม้ผู้ชำระบัญชีจะพยายามทำตามหน้าที่ตามมาตรา1250 อย่างไร ก็ไม่มีอำนาจที่จะไปมีอิทธิพลหรือบีบบังคับให้กรมสรรพากรคืนเงินภายในเวลาที่ผู้ชำระบัญชีต้องการได้ เมื่อกรมสรรพากรได้รับรู้การชำระบัญชี แต่ไม่สามารถดำเนินการคืนให้แก่บริษัทก่อน การเสร็จสิ้นชำระบัญชีได้และกรมสรรพากรก็ไม่ได้ระบุสาเหตุของการคืนเงินล่าช้าว่าเกิดจากสาเหตุใด ดังนั้น หากไม่ใช่เพราะบริษัทไม่ได้ให้ความร่วมมือแก่เจ้าหน้าที่ในระหว่างการตรวจสอบเพื่อคืนเงินภาษีแล้ว (เช่นการมอบหลักฐานเอกสาร) หรือจากสาเหตุอื่นการที่กรมสรรพากรยกเอาความบกพร่องของหน้าที่ผู้ชำระบัญชีตามมาตรา 1250 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาเป็นเหตุจนไม่สามารถคืนเงินได้ เนื่องจากผลของการสิ้นสภาพนิติบุคคลก็อาจเป็นการไม่ยุติธรรมแก่ผู้เสียภาษีเพราะกรมสรรพากรอาจคำนึงถึงเฉพาะผลทางกฎหมายโดยไม่ได้นำองค์ประกอบของเหตุมาพิจารณาด้วยที่ไม่ได้รับความร่วมมือจากบริษัทหรือไม่ดังนั้น ด้วยความเคารพจึงเห็นว่าอาจไม่เป็นธรรมกับผู้เสียภาษีที่สำคัญอาจเกิดความรู้สึกที่ไม่ดีต่อระบบของกรมสรรพากรเองด้วย
จากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ คอลัมน์ไขปัญหาภาษี วันที่ 16 มิถุนายน 2548

ไม่มีความคิดเห็น:

คลังบทความของบล็อก