13 กรกฎาคม 2548

ภาษีเงินได้นิติบุคคล ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร (5)

ในสัปดาห์นี้ขอนำประเด็นภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(5) และ (6) แห่งประมวลรัษฎากร ที่จ่ายจากหรือในประเทศไทย มาปุจฉา-วิสัชนา ต่อจากคราวก่อนดังนี้
ปุจฉา กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ มิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย แต่ได้รับเงินส่วนแบ่งของกำไรจากกองทุนรวมที่ตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 กองทุนรวมดังกล่าวต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากรหรือไม่ เพราะเหตุใด วิสัชนา กองทุนรวมดังกล่าวไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร เนื่องจากเงินส่วนแบ่งของกำไรดังกล่าว ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร ปุจฉา มีข้อกำหนดเกี่ยวกับการยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับดอกเบี้ยเงินกู้ยืมจากต่างประเทศที่จ่ายในกรณี หรือไม่ วิสัชนา กรณีจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ยืมให้แก่บุคคลดังต่อไปนี้ ผู้จ่ายเงินได้ไม่ต้องคำนวณหักภาษี ณ ที่จ่าย
1.สถาบันการเงินของรัฐบาลต่างประเทศ ที่มีกฎหมายโดยเฉพาะจัดตั้งขึ้น และรัฐบาลต่างประเทศนั้นเป็นเจ้าของทุนทั้งหมด 2.บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ ทั้งนี้ เฉพาะดอกเบี้ยที่ได้รับจาก (1) ธนาคารแห่งประเทศไทย (2) รัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังให้ความเห็นชอบในการกู้เงินนั้น (พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 10) พ.ศ.2500 มาตรา 5 สัตต) 3.ผู้มีเงินได้ที่เป็นดอกเบี้ยพันธบัตรของรัฐบาล องค์การของรัฐบาล หรือสถาบันการเงินที่มีกฎหมาย โดยเฉพาะของประเทศไทยจัดตั้งขึ้นสำหรับให้กู้ยืมเงินเพื่อส่งเสริมเกษตรกรรม พาณิชยกรรม หรืออุตสาหกรรม ที่จำหน่ายในต่างประเทศ (พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 10) พ.ศ.2500 มาตรา 5 อัฏฐ)
ปุจฉา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ณ ที่จ่ายตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับเงินได้ตามมาตรา 40(5) แห่งประมวลรัษฎากร มีหลักเกณฑ์อย่างไร
วิสัชนา หลักเกณฑ์ของภาษีเงินได้นิติบุคคลดังกล่าวมีดังนี้ 1.เงินได้ตามมาตรา 40(5) แห่งประมวลรัษฎากร ได้แก่ เงินได้จากการให้เช่าทรัพย์สินตามมาตรา 40(5)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร ไม่ว่าจะเป็น (1) การให้เช่าสังหาริมทรัพย์ เช่น แท่นขุดเจาะน้ำมัน เครื่องจักร อุปกรณ์ ยานพาหนะ เป็นต้น (2) การให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ อาทิ ห้องชุดในอาคารชุด ซึ่งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ มีสิทธิเป็นเจ้าของตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด 2.โดยทั่วไปให้คำนวณหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตรา 15% ของเงินได้ที่จ่าย เว้นแต่กรณีจ่ายเงินได้ที่เป็นค่าเช่าเรือเดินทะเลที่ใช้ในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ซึ่งการเช่าเรือนั้น ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการพาณิชยนาวี ให้คำนวณหักภาษีเงินได้ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร ในอัตราร้อยละ 1 ทั้งนี้ เฉพาะค่าเช่าที่มีการจ่ายในช่วงเวลาต่อไปนี้ (1) ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2539 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2544 ตามพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 299) พ.ศ.2539 และ (2) ตั้งแต่วันที่ 23 ตุลาคม 2547 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2550 ตามพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 425) พ.ศ.2547 3.เงินได้ตามมาตรา 40(5)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะส่วนที่เป็นเงินได้จากการให้เช่าสังหาริมทรัพย์ เป็นเงินได้จากการให้บริการที่อยู่ในข่ายที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ผู้จ่ายเงินได้จึงต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 83/6(2) แห่งประมวลรัษฎากร ตามแบบ ภ.พ.36 ภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดจากเดือนที่จ่ายเงินได้ (พร้อมกับการนำส่งภาษี ณ ที่จ่าย) ปุจฉา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ณ ที่จ่ายตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับเงินได้ตามมาตรา 40(6) แห่งประมวลรัษฎากร มีหลักเกณฑ์อย่างไร วิสัชนา หลักเกณฑ์ของภาษีเงินได้นิติบุคคลกรณีดังกล่าวมีดังนี้ 1.เงินได้ตามมาตรา 40(6) แห่งประมวลรัษฎากร ได้แก่ เงินได้จากวิชาชีพอิสระ ได้แก่ วิชากฎหมาย การประกอบโรคศิลปะ วิศวกรรม สถาปัตยกรรม การบัญชี และประณีตศิลปกรรม 2.โดยทั่วไปให้คำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย สำหรับเงินได้ตามมาตรา 40(6) แห่งประมวลรัษฎากร ในอัตรา 15% โดยเฉพาะในกรณีที่จ่ายเงินได้ดังกล่าวให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้น ตามกฎหมายของประเทศที่ไม่มีอนุสัญญาว่าด้วยการเว้นการเก็บภาษีซ้ำซ้อนกับประเทศไทย
กรณีจ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(6) แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ ที่มีอนุสัญญาว่าด้วยการเก็บภาษีซ้ำซ้อนกับประเทศไทย และมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย ผู้จ่ายเงินได้ไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายแต่อย่างใด 4.กรณีจ่ายเงินได้จากวิชาชีพอิสระ ถือเป็นการจ่ายค่าบริการที่ได้ให้จากต่างประเทศ และได้การใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร ผู้จ่ายเงินได้จึงมีหน้าที่ต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 83/6(2) แห่งประมวลรัษฎากร ตามแบบ ภ.พ.36 ภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดจากเดือนที่จ่ายเงินได้ เว้นแต่เงินได้ดังต่อไปนี้ (1) เงินได้จากการประกอบโรคศิลปะ (2) เงินได้ค่าสอบบัญชี (3) เงินได้ค่าว่าความ
จากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ คอลัมน์ไขปัญหาภาษี วันที่ 13 กรกฎาคม 2548

ไม่มีความคิดเห็น:

คลังบทความของบล็อก