30 มิถุนายน 2548

ภาษีกับเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศ (Subsidy)

เมื่อปลายปีที่แล้วผู้เขียนได้นำเสนอบทความเกี่ยวกับภาษีของเงินช่วยเหลือแบบให้เปล่าโดยสรุปออกเป็น 2 ประเด็น คือ
ภาระภาษีของเงินช่วยเหลือจากสำนักงานใหญ่ที่ตั้งอยู่ต่างประเทศที่ให้แก่สำนักงานสาขาในประเทศไทยและเงินช่วยเหลือจากบริษัทแม่หรือบริษัทที่อยู่ในเครือเดียวกัน (Related company) ให้แก่บริษัทลูกในประเทศไทยนั้น แต่เนื่องจากเมื่อเดือนพฤษภาคม 2548 ที่ผ่านมา กรมสรรพากรได้มีหนังสือตอบข้อหารือ เรื่องภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่มกรณีบริษัทไทยได้รับเงินช่วยเหลือจาก รัฐบาลต่างประเทศซึ่งมีเนื้อหาที่น่าสนใจและนับเป็น ตัวอย่าง การพิจารณาประเด็นภาษีของเงินช่วยเหลือที่แตกต่างและเพิ่มเติมจากที่ได้นำเสนอไว้แล้ว ดังกล่าว จึงใคร่ถือโอกาสนำแนววินิจฉัยของกรมสรรพากรมาเพื่อใช้เป็นบรรทัดฐานในการพิจารณาภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่มของเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศ ดังนี้ ข้อหารือ ที่ กค. 0706/3693 ลงวันที่ 9 พฤษภาคม 2548
ข้อเท็จจริง
บริษัท ก. ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลต่างประเทศตามโครงการ PSOM-PROJECT โครงการดังกล่าวอยู่ภายใต้การควบคุมของต่างประเทศ และเป็นโครงการเพื่อส่งเสริมการเกษตรในประเทศไทย โดยการสาธิตวิธีการปลูกพืชไร้ดินให้เกษตรกรในประเทศไทยได้รู้จัก ทั้งนี้ บริษัท ก. ได้รับความช่วยเหลือรวม 3 ด้าน คือ ด้านเทคโนโลยี ด้านผู้เชี่ยวชาญ และ ด้านการเงิน สำหรับการช่วยเหลือด้านการเงินรัฐบาลต่างประเทศได้จ่ายเงินช่วยเหลือให้บริษัท เพื่อนำไปใช้จ่ายในการซื้อเครื่องจักรอุปกรณ์ ซื้อพันธุ์พืช จ่ายค่าแรงงาน และค่าใช้จ่ายอื่นๆ โดยมีเงื่อนไขว่า บริษัท ก. จะต้องมีโครงการสาธิต เทคนิค วิธีการในการเพาะปลูกพืชแบบไร้ดินให้แก่องค์กรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมทั้งเกษตรกรที่มีความสนใจเทคนิคดังกล่าวตามระยะเวลาที่กำหนด
แนววินิจฉัย
กรณีที่บริษัท ก. ได้รับเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศโดยมีเงื่อนไขที่จะต้องจัดโครงการสาธิตการเพาะปลูกเพื่อแนะนำเทคนิคและวิธีการในการเพาะปลูกพืชไร้ดินเป็นการตอบแทน ดังนั้น เงินช่วยเหลือดังกล่าวจึงมิใช่เงินช่วยเหลือแบบให้เปล่า หากแต่เป็นค่าบริการ บริษัท ก. จึงต้องนำเงินช่วยเหลือ ดังกล่าว มารวมคำนวณเป็นมูลค่าของฐานภาษีในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากร และจะต้องนำเงินช่วยเหลือ ดังกล่าวไปถือเป็นรายได้จากการประกอบกิจการในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากรจากข้อหารือข้างต้น กรมสรรพากรวินิจฉัยว่า เงินช่วยเหลือที่ได้รับจากผู้ให้จากต่างประเทศทั้งจาก รัฐบาลของต่างประเทศหรือนิติบุคคลต่างประเทศ หากการให้เงินช่วยเหลือนั้นมีเงื่อนไขว่า ผู้รับจะต้องกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดตามความประสงค์หรือข้อกำหนดของผู้ให้เป็นการตอบแทน จะถือว่าเงินช่วยเหลือนั้น มิใช่เงินช่วยเหลือแบบให้เปล่า (Subsidy) แต่เป็นค่าตอบแทนการให้บริการ ซึ่งต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม นอกเหนือจากที่ต้องถือเป็นรายได้เพื่อนำไปรวมคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลอีกด้วย
ดังนั้น จึงพอสรุปภาระภาษี (Tax treatment) สำหรับกรณีเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศ (Overseas subsidies) ด้วยการอ้างอิงจากแนววินิจฉัยของหนังสือตอบข้อหารือของกรมสรรพากร ดังนี้ คือ
1. เงินช่วยเหลือจากสำนักงานใหญ่ซึ่งให้แก่สำนักงานสาขาในประเทศไทย ตามประมวลรัษฎากรสำนักงานใหญ่และสาขาถือเป็นนิติบุคคลเดียวกัน ดังนั้น เงินช่วยเหลือที่สำนักงานใหญ่จ่ายให้แก่สำนักงานสาขาในประเทศไทยจึงไม่ถือว่า เป็นรายได้ของสำนักงานสาขาและเนื่องจาก เงินช่วยเหลือ ดังกล่าวไม่ใช่ค่าตอบแทนในการขายสินค้าหรือบริการ ตามมาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากร จึงไม่อยู่ในข่ายต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (ดูเพิ่มเติม หนังสือที่ กค. 0811/31986 ลง วันที่ 16 สิงหาคม 2543)
2. เงินช่วยเหลือจากนิติบุคคลต่างประเทศ ที่มีความสัมพันธ์ กับผู้รับซึ่งเป็นบริษัทไทย หรือจากนิติบุคคลอื่น (Related or Non-related) โดยเป็นเงินให้เปล่า และไม่มีเงื่อนไขหรือข้อผูกมัดเพื่อให้ผู้รับกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดตามความประสงค์ของผู้ให้เป็นการตอบแทน เงินช่วยเหลือจึงไม่อยู่ในข่ายต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่บริษัทผู้รับจะต้องนำเงินดังกล่าวถือเป็นรายได้เพื่อรวมคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้รับเงินช่วยเหลือ (ดูเพิ่มเติม หนังสือ กค. 0811/พ./15663 ลงวันที่ 19 พฤศจิกายน 2540 และที่ กค. 0706/พ. / 6175 ลงวันที่ 2 กรกฎาคม 2546)
3. เงินช่วยเหลือจากนิติบุคคลต่างประเทศที่มีความสัมพันธ์กับผู้รับซึ่งเป็นบริษัทไทย หรือจากนิติบุคคลอื่น แต่มีเงื่อนไขว่า ผู้รับเงินช่วยเหลือจะต้องดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด ตามความประสงค์หรือ ข้อกำหนดของผู้ให้ ถือว่าเงินช่วยเหลือดังกล่าวเป็นค่าตอบแทนการให้บริการต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และจำนวนเงินดังกล่าว ต้องนำไปรวมคำนวณเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีเงินได้ นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้รับเงินช่วยเหลือ
จากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ คอลัมน์ไขปัญหาภาษี วันที่ 30 มิถุนายน 2548

ไม่มีความคิดเห็น:

คลังบทความของบล็อก