29 มิถุนายน 2548

ภาษีเงินได้นิติบุคคล ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร (3)

ในสัปดาห์นี้ ขอนำประเด็นภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (3) แห่งประมวลรัษฎากร ที่จ่ายจากหรือในประเทศไทย มาปุจฉา-วิสัชนา ต่อจากคราวก่อนดังนี้
ปุจฉา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับเงินได้ตามมาตรา 40 (3) แห่งประมวลรัษฎากร มีหลักเกณฑ์อย่างไร
วิสัชนา หลักเกณฑ์ของภาษีเงินได้นิติบุคคลกรณีดังกล่าวมีดังนี้
1.เงินได้ตามมาตรา 40 (3) แห่งประมวลรัษฎากร ได้แก่ ค่าแห่งกู๊ดวิลล์ (Goodwill) หรือค่าความนิยม ค่าแห่งลิขสิทธิ์ (Copy write) เช่น ค่าลิขสิทธิ์ในบทประพันธ์ กรรมวิธี สูตร เครื่องหมายการค้า ค่าแห่งสิทธิอย่างอื่น (Other Right) อาทิ ค่าสิทธิที่มีลักษณะทำนองเดียวกันกับค่าแห่งกู๊ดวิลล์ หรือค่าแห่งลิขสิทธิ์ เช่น สิทธิประกอบกิจการตามใบอนุญาต สิทธิบัตร และค่าสิทธิ (Royalty)
2.โดยทั่วไปให้คำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตรา 15% ของเงินได้ที่จ่าย เว้นแต่กรณีจ่ายเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศที่มีอนุสัญญาว่าด้วยการเว้นการเก็บภาษีซ้ำซ้อนกับประเทศไทย อาจมีลดอัตราเงินได้หัก ณ ที่จ่าย เช่น การจ่ายค่าตอบแทนการใช้ลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมซึ่งถือเป็นค่าสิทธิ ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศ ที่มีอนุสัญญาว่าด้วยการเว้นการเก็บภาษีซ้ำซ้อนกับประเทศไทย และซึ่งไม่มีสถานประกอบการถาวรในประเทศไทยดังต่อไปนี้ ผู้จ่ายเงินได้มีหน้าที่หักภาษีเงินได้นิติบุคคล ดังนี้
(1) อินโดนีเซีย และปากีสถาน 10% ตามข้อ 12 แห่งอนุสัญญาฯ (2) ฮังการี 15% ตามข้อ 12 แห่งอนุสัญญาฯ (3) เบลเยียม แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ และสหราชอาณาจักร 5% ตามข้อ 12 แห่งอนุสัญญาฯ
3.ค่าสิทธิมีทั้งที่เป็นค่าบริการและค่าสินค้า ในกรณีที่จ่ายค่าสิทธิในส่วนที่เป็นค่าบริการให้ผู้จ่ายนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 83/6(2) แห่งประมวลรัษฎากร ภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดจากเดือนที่จ่ายเงินได้ด้วยแบบ ภ.พ.36
ปุจฉา ค่าสิทธิ (Royalty) ตามข้อตกลงว่าด้วยการเว้นการเก็บภาษีซ้ำซ้อนกำหนดได้อย่างไรวิสัชนา ตามข้อตกลงว่าด้วยการเว้นการเก็บภาษีซ้ำซ้อน กำหนดความหมายของค่าสิทธิไว้ดังนี้
1.ค่าตอบแทนเพื่อการใช้หรือสิทธิในการใช้ลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรม ศิลปะ หรือวิทยาศาสตร์ใดๆ รวมทั้งโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งถือเป็นงานวรรณกรรมตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ซึ่งโดยทั่วไปมักปรากฏในข้อ 12 แห่งอนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน ในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้จากทุน
2.ค่าตอบแทนเพื่อการใช้หรือสิทธิในการใช้สิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า แบบ หรือหุ่นจำลอง แผนผัง สูตรลับ หรือกรรมวิธีใดๆ เช่น การจัดหาเอกสารและแบบต่างๆ ที่ใช้ในการก่อสร้างและการดำเนินงานโรงกลั่นน้ำมัน ซึ่งตามสัญญา Confidentiality Agreement ได้กำหนดให้ใช้เอกสารและแบบต่างๆ ดังกล่าว ได้เฉพาะเพื่อการก่อสร้างและการดำเนินโรงกลั่นน้ำมันที่ตกลงกันเท่านั้น ไม่สามารถนำเอกสารและแบบดังกล่าวไปใช้ก่อสร้างโรงกลั่นแห่งอื่น และไม่สามารถนำไปให้ผู้อื่นใช้ได้อีก ดังนี้ ค่าตอบแทนการใช้เอกสารและแบบดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นค่าตอบแทนการใช้แบบ หรือหุ่นจำลอง แผนผัง ซึ่งถือเป็นค่าสิทธิ
3.ค่าตอบแทนเพื่อการใช้หรือสิทธิในการใช้ฟิล์มภาพยนตร์ หรือเทปบันทึกภาพสำหรับโทรทัศน์ หรือการกระจายเสียง อุปกรณ์ทางอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม หรือวิทยาศาสตร์ เช่น เงินค่าเช่าช่องสื่อสัญญาณในระบบดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศของอินโดนีเซีย ถือเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทค่าสิทธิตามมาตรา 40 (3) แห่งประมวลรัษฎากร
4.ค่าตอบแทนเพื่อข้อสนเทศเกี่ยวกับประสบการณ์ทางอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม หรือวิทยาศาสตร์ เช่น การให้คำปรึกษาแนะนำเกี่ยวกับการก่อสร้างและการดำเนินการโรงกลั่นน้ำมัน เข้าลักษณะเป็นการให้ข้อมูลทางเทคนิคที่มีลักษณะพิเศษ ซึ่งไม่เป็นที่เปิดเผยกับบุคคลทั่วไป และโดยที่ตามสัญญา Confidentiatity Agreement ยังกำหนดให้เก็บรักษาข้อมูลดังกล่าว ไว้เป็นความลับตราบเท่าที่ข้อมูลนั้นยังไม่เป็นที่เปิดเผยต่อสาธารณชน และไม่สามารถนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ในกิจการอื่นได้ นอกจากนำมาใช้ในกิจการโรงกลั่นน้ำมันที่ตกลงกันเท่านั้น ดังนี้ ค่าตอบแทนการใช้ข้อมูลดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นค่าตอบแทนการใช้ข้อสนเทศเกี่ยวกับประสบการณ์ทางอุตสาหกรรม ทางพาณิชย์ หรือทางวิทยาศาสตร์
การให้บริการทางเทคนิค (Technical Consultation) เพื่อแก้ปัญหาต่างๆ เพื่อให้วัตถุประสงค์ตามสัญญาบรรลุเป้าหมาย การให้ข้อมูลทางเทคนิค (Technical Information) เช่น แบบ แผนผัง ข้อกำหนด และข้อมูลต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับการผลิต เป็นต้น การให้ความช่วยเหลือทางเทคนิค (Technical Assistance) โดยส่งวิศวกรผู้เชี่ยวชาญเข้ามาให้คำปรึกษาทางเทคนิค การช่วยฝึกอบรมพนักงาน และการช่วยคัดเลือก จัดหา และติดตั้งอุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆ ที่ใช้ในการผลิต ตามสัญญาความช่วยเหลือทางเทคนิค (Technical Assistance Agreement) โดยบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศญี่ปุ่น ที่ไม่มีสถานประกอบการถาวรในประเทศไทย ซึ่งบริษัทผู้ว่าจ้างต้องชำระค่าที่พัก ค่าอาหาร และค่าเดินทางของผู้เชี่ยวชาญ ที่เข้ามาให้ความช่วยเหลือในประเทศไทย ค่าตอบแทนดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นค่าตอบแทนเพื่อข้อสนเทศเกี่ยวกับประสบการณ์ทางอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม หรือวิทยาศาสตร์
5.กำไรที่ได้จากการจำหน่ายสิทธิหรือทรัพย์สินที่ก่อให้เกิดค่าสิทธิขึ้น ถ้าสิทธิหรือทรัพย์สินนั้นจำหน่ายโดยผู้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศคู่สัญญากับประเทศไทย เพื่อการใช้โดยเฉพาะในประเทศไทย และการชำระเงินค่าสิทธิหรือทรัพย์สินนั้น ตกเป็นภาระแก่วิสาหกิจของประเทศไทย หรือของสถานประกอบการถาวรที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย (ข้อตกลงว่าด้วยการเว้นการเก็บภาษีซ้อน)
จากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ คอลัมน์ไขปัญหาภาษี วันที่ 29 มิถุนายน 2548

ไม่มีความคิดเห็น:

คลังบทความของบล็อก