24 มิถุนายน 2548

กฎหมายเศรษฐกิจ

คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
จากที่ผู้เขียนได้นำเรื่องราวเกี่ยวกับกรณีที่ศาลปกครองได้มีคำพิพากษาให้อำนาจของบริษัท ทศท จำกัด (มหาชน) ("บมจ. ทศท") ในส่วนที่เป็นการกำกับดูแลการประกอบกิจการโทรคมนาคมโอนไปเป็นของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กทช. มาบอกเล่าให้ผู้อ่านได้รับทราบกันเมื่อฉบับปลายเดือนพฤษภาคม 2548 ที่ผ่านมานั้น
ท่านผู้อ่านหลายท่านอาจสงสัยว่า คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กทช. คือใคร และมีหน้าที่อย่างไร เพื่อให้ท่านผู้อ่านเข้าใจมากขึ้น สัปดาห์นี้ผู้เขียนจึงขอนำเรื่องราวของ กทช. มาบอกเล่าให้ท่านผู้อ่านได้รับทราบกันดังนี้ครับ
คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กทช. เป็นองค์กรอิสระซึ่งถูกจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2543 ("พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่") มีหน้าที่ในการพิจารณาอนุญาตและกำกับดูแลการประกอบกิจการโทรคมนาคมของผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม รวมตลอดถึงมีอำนาจหน้าที่อื่นๆ ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 ครับ
จำนวนและองค์ประกอบของ กทช. กทช. ประกอบด้วย ประธานกรรมการ 1 คน และกรรมการอื่นอีก 6 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา โดย กทช. จะต้องเป็นผู้ที่มีผลงาน หรือเคยปฏิบัติงานที่แสดงให้เห็นถึงการเป็นผู้มีความรู้ ความเข้าใจ และมีความเชี่ยวชาญ หรือมีประสบการณ์ในกิจการโทรคมนาคม เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง การศึกษา ศาสนา วัฒนธรรม เศรษฐกิจ ความมั่นคง กฎหมายมหาชน และกิจการท้องถิ่นอันจะเป็นประโยชน์ต่อกิจการโทรคมนาคม
วาระการดำรงตำแหน่ง พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่กำหนดให้ กทช. มีวาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี นับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งและให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว
อำนาจหน้าที่ของ กทช. กทช. มีอำนาจหน้าที่หลายประการ ซึ่งผู้เขียนขอยกตัวอย่างให้ท่านผู้อ่านได้เข้าใจพอสังเขปดังนี้ครับ1. มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบายและจัดทำแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคมและแผนความถี่วิทยุให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ แผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่และตารางกำหนดคลื่นความถี่แห่งชาติ ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ กทช. ได้จัดให้มีประชาพิจารณ์ในการจัดทำแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคมครับ2. มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดลักษณะและประเภทของกิจการโทรคมนาคม3. มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาอนุญาตและกำกับดูแลการใช้คลื่นความถี่เพื่อกิจการโทรคมนาคม ทั้งนี้ การอนุญาตดังกล่าวจะต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชนในระดับชาติ ในด้านการศึกษา วัฒนธรรม ความมั่นคงของรัฐ และประโยชน์สาธารณะอื่น รวมทั้งการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม และต้องดำเนินการในลักษณะที่มีการกระจายการใช้ประโยชน์โดยทั่วถึงในกิจการด้านต่างๆ ให้เหมาะสมแก่การเป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณชน4. มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาอนุญาตและกำกับดูแลการประกอบกิจการโทรคมนาคม5. กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการอนุญาต เงื่อนไข ค่าตอบแทนหรือค่าธรรมเนียมการอนุญาตตาม (3) และ (4) รวมทั้งการกำกับดูแลการประกอบกิจการโทรคมนาคม6. มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเชื่อมต่อระหว่างโครงข่ายโทรคมนาคม7. มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดโครงสร้างอัตราค่าธรรมเนียมและค่าบริการในกิจการโทรคมนาคม รวมทั้งอัตราค่าเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมให้เป็นธรรมต่อผู้ใช้บริการและผู้ให้บริการโทรคมนาคม หรือระหว่างผู้ให้บริการกิจการโทรคมนาคม8. มีอำนาจหน้าที่ในการจัดทำแผนเลขหมายโทรคมนาคมและอนุญาตให้ผู้ประกอบการใช้เลขหมายโทรคมนาคม9. มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคและกระบวนการรับคำร้องเรียนของผู้บริโภค และกำหนดมาตรการเพื่อคุ้มครองสิทธิในความเป็นส่วนตัวและเสรีภาพของบุคคลในการสื่อสารถึงกันโดยทางโทรคมนาคม10. มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดมาตรการ เพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม และกำหนดมาตรการให้มีการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบการในกิจการโทรคมนาคมและกิจการที่เกี่ยวเนื่อง และการกระจายบริการด้านโทรคมนาคมให้ทั่วถึงและเท่าเทียมกันทั่วประเทศ 11. ส่งเสริมให้มีการฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากรด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ12. ส่งเสริมสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านโทรคมนาคม เทคโนโลยีสารสนเทศ อุตสาหกรรมโทรคมนาคม และอุตสาหกรรมต่อเนื่องฯลฯ
ท่านผู้อ่านคงจะเห็นแล้วนะครับว่า พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นถี่ได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของ กทช. ไว้มากมาย ฉบับหน้าเรามาดูองค์กรอิสระอีกองค์กรหนึ่งตาม พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่กันต่อครับ
จากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ คอลัมน์ไขปัญหาภาษี วันที่ 24 มิถุนายน 2548

ไม่มีความคิดเห็น:

คลังบทความของบล็อก