16 มกราคม 2550

ลูกหนี้แบงก์แจ็กพอตซื้อบ้านขายทอดตลาดต้องเสียภาษี-ค่าโอนซ้ำสอง

กรมที่ดินกำหนดแนวทางปฏิบัติกรณีลูกหนี้ซื้อบ้านตัวเองจากการขายทอดตลาดของกรมบังคับคดีใหม่ ชี้สำนักงานที่ดินสาขาทั่วประเทศต้องรับจดทะเบียน ลูกหนี้แจ็กพอตต้องจ่ายค่าธรรมเนียมโอน-ภาษีอีกทอดแหล่งข่าวจากกรมที่ดินเปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า เมื่อวันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา นายขันธ์ชัย วิจกขณะ รองอธิบดีกรมที่ดิน ได้ทำหนังสือถึงสำนักงานที่ดินสาขาทั่วประเทศ แจ้งแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครอง ให้กับผู้ซื้อทรัพย์ของตนเองจากการขายทอดตลาดของกรมบังคับคดี โดยให้เจ้าพนักงานที่ดินรับจดทะเบียนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองทุกกรณี จากเดิมสำนักงานที่ดินสาขาบางแห่งรับจดทะเบียน ขณะที่บางแห่งไม่รับจดทะเบียนให้ เนื่องจากเห็นว่าบุคคลที่ซื้อทรัพย์กับบุคคลที่มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์เป็นบุคคลเดียวกันหลังมีการกำหนดแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับเรื่องนี้ชัดเจน ลูกหนี้ซึ่งเป็นผู้ซื้อทรัพย์หรือบ้านของตนเองจากการขายทอดตลาด จะต้องจดทะเบียนนิติ กรรมอสังหาฯ โดยจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมและภาษีเหมือนกับกรณีซื้อขายอสังหาฯทั่วๆ ไป ซึ่งประกอบด้วยค่าจดทะเบียนโอน 2% ของราคาประเมินทุนทรัพย์ ค่าภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ค่าภาษีธุรกิจเฉพาะ 3.3% และค่าอากรแสตมป์ 0.5% ยกเว้นบ้านที่ซื้อขายเข้าข่ายเป็นบ้านมือสองที่อยู่ในเกณฑ์ได้รับลดหย่อนภาษีและค่าธรรมเนียม ตามมาตรการสนับสนุนตลาดบ้านมือสอง เช่น เป็นบ้านที่เคยอยู่อาศัยโดยลูกหนี้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านตามหลักฐานทะเบียนราษฎรเป็นระยะเวลาเกินกว่า 1 ปี จะได้รับลดหย่อนค่าธรรมเนียมโอนจาก 2% เหลือ 0.01% ลดค่าจด จำนองจากอัตราปกติ 1% เหลือ 0.01% ได้รับยกเว้นการจัดเก็บค่าอากรแสตมป์ที่ปกติจัดเก็บในอัตรา 0.5% ส่วนภาษีธุรกิจเฉพาะกรณีมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านไม่น้อยกว่า 1 ปี ไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ส่วนภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ปกติการซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดจากกรมบังคับคดีผู้ซื้อจะเป็นผู้รับภาษี แหล่งข่าวกล่าวว่า ในทางปฏิบัติ เมื่อลูกหนี้ซึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์หรือบ้านอยู่อาศัยซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดของกรมบังคับคดีได้ กรมบังคับคดีจะทำหนังสือให้สำนักงานที่ดินระงับจำนอง โดยจะเสียค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนระงับจำนองตามประเภทไม่มีทุนทรัพย์ ซึ่งจะจัดเก็บในอัตรา 50 บาทต่อแปลง บวกค่าคำขอ 5 บาท และค่าพยานไม่เกิน 20 บาทต่อรายการ จากนั้นจึงให้จดทะเบียนซื้อขายอีกทอดหนึ่ง
จากหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 07 กันยายน พ.ศ. 2549 ปีที่ 30 ฉบับที่ 3825 (3025)

ไม่มีความคิดเห็น:

คลังบทความของบล็อก