22 กุมภาพันธ์ 2549

ส่วนประกอบของรายจ่ายฝ่ายทุน:สุเทพ พงษ์พิทักษ์

สัปดาห์ก่อนได้นำประเด็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน ตามมาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร
พร้อมทั้งหลักเกณฑ์การพิจารณาคุณสมบัติของรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุนมาพูดคุยแล้ว ในครั้งนี้ขอนำประเด็นส่วนประกอบของรายจ่ายดังกล่าวมาเป็นประเด็น ปุจฉา-วิสัชนา เพิ่มเติมดังนี้
ปุจฉา รายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุนทางภาษีอากรมีส่วนประกอบอย่างไร
วิสัชนา รายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุนทางภาษีอากรส่วนประกอบสำคัญดังนี้
1. ตามมาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร บัญญัติห้ามมิให้นำรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน รวมทั้งเกี่ยวเนื่องกับรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุนดังต่อไปนี้ มาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ (ทางภาษีอากร) เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ในทางบัญชีอย่างยิ่ง
(1) ต้นทุนเพื่อการได้มาซึ่งทรัพย์สิน (COST OF ACQUISITION OF ASSET) หมายถึง ต้นทุนในการซื้อทรัพย์สิน รวมทั้งรายจ่ายเพื่อการได้มาซึ่งทรัพย์สินดังนี้
(ก) ค่าซื้อทรัพย์สิน ต้นทุนทรัพย์สินที่ได้จากการแลกเปลี่ยน
(ข) ค่าอากรขาเข้า ค่าภาษีสรรพสามิต ค่าธรรมเนียมตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน ค่าธรรมเนียมตามกฎหมายที่ดิน
(ค) ค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม เฉพาะสำหรับสินค้าบางประเภท เช่น รถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต รวมทั้งทรัพย์สินที่มิได้มีไว้เพื่อการประกอบกิจการที่อยู่ในข่ายต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เช่น กิจการธนาคารพาณิชย์ กิจการเงินทุน กิจการหลักทรัพย์ กิจการเครดิตฟองซิเอร์ กิจการประกันภัย กิจการโรงรับจำนำ กิจการค้าอสังหาริมทรัพย์ และกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มอื่นๆ
(ง) ค่าขนส่งขาเข้า (TRANSPORTATION FEE)
(จ) ค่าใช้จ่ายในการติดตั้ง (INSTALLATION FEE)
(ฉ) ค่าใช้จ่ายในการทดลองเดินเครื่องจักร (RUNNING TEST) หักด้วยรายได้จากการขายผลิตผลที่ได้จากการทดลองเดินเครื่อง (BY PRODUCT)
(ช) ค่าโสหุ้ยต่างๆ (OVERHEAD)
(ซ) ต้นทุนเพื่อการได้มาซึ่งแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สูญสิ้นไปได้
(ฌ) ต้นทุนเพื่อการได้มาซึ่งสิทธิการเช่า อาทิ เงินกินเปล่า เงินช่วยค่าก่อสร้าง ค่าแห่งอาคารหรือโรงเรือนที่ได้โอนเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าของที่ดินเมื่อสร้างเสร็จ ซึ่งตอบแทนสิทธิการเช่าอันมีระยะเวลา
(ญ) ต้นทุนเพื่อการได้มาซึ่งสิทธิในกรรมวิธี สูตร กู๊ดวิล เครื่องหมายการค้า สิทธิบัตร สิทธิประกอบกิจการตามใบอนุญาต ลิขสิทธิ์ หรือสิทธิอย่างอื่น
(2) รายจ่ายในการต่อเติม (ADDITION) หมายถึง รายจ่ายเพื่อการต่อเติมส่วนต่างๆ ของทรัพย์สินซึ่งมักเป็นการต่อเติมส่วนบนของทรัพย์สิน เช่น รายจ่ายในการต่อเติมอาคารจากเดิมซึ่งมีสี่ชั้นเป็นหกชั้น ค่าต่อเติมหลังคาของรถกระบะ ค่าต่อเติมอุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ เป็นต้น
(3) รายจ่ายในการเปลี่ยนแปลง (ALTERATION) หมายถึง รายจ่ายในการเปลี่ยนแปลงสภาพของทรัพย์สิน เช่น รายจ่ายในการกั้นห้อง ค่าทุบทำลายฝากั้นห้อง เจาะประตู หน้าต่าง ค่าใช้จ่ายในการดัดแปลงรถยนต์บรรทุกหรือรถยนต์โดยสารให้เป็นรถยนต์นั่ง เป็นต้น
(4) รายจ่ายในการขยายออก (EXTENSION) หมายถึง รายจ่ายในการขยายทรัพย์สินออกไป ซึ่งมักขยายออกไปทางด้านข้าง เช่น รายจ่ายในการขยายอาคารโรงงาน เป็นต้น
(5) รายจ่ายในการทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สิน แต่มิใช่เป็นการซ่อมแซมให้คงสภาพเดิม (BETTERMENT) หมายถึง รายจ่ายในการทำให้คุณภาพ หรือสภาพของทรัพย์สินดีขึ้นไปกว่าสภาพ ณ วันที่ได้ทรัพย์สินนั้นมาที่มิใช่เป็นการซ่อมแซมให้คงสภาพเดิม แม้จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงสภาพทางกายภาพ (PHYSICAL) ของทรัพย์สิน เช่น รายจ่ายในการเปลี่ยน SOFTWARE คอมพิวเตอร์ หรือโปรแกรมสั่งงานหรือควบคุมเครื่องจักร ค่าเปลี่ยนกระทะครอบล้อรถทั่วไปเป็นแมกเนติกที่ไม่เป็นสนิม กรณีซื้อบ้านหรือรับโอนบ้านหรืออาคารเก่ามาจากบุคคลอื่น ต่อมาได้ทำการปรับปรุงโดยการทาสีใหม่ หรือซ่อมเสริมส่วนที่ชำรุด หรือกรณีซื้อรถยนต์หรือเครื่องยนต์เก่ามาทำการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง อันมีผลให้สภาพของรถยนต์หรือเครื่องจักรดีขึ้น เป็นต้น
อย่างไรก็ตามรายจ่ายในการทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สิน มีลักษณะใกล้เคียงกับค่าซ่อมแซมทรัพย์สินให้คงสภาพเดิม ซึ่งอาจสรุปหลักในการพิจารณาค่าซ่อมแซมทรัพย์สินให้คงสภาพเดิม คือ ต้องเป็นรายจ่ายที่ใช้ในการซ่อมแซมส่วนที่ชำรุดสึกหรอของทรัพย์สิน โดยไม่ทำให้ทรัพย์สินนั้นมีสภาพดีกว่าสภาพเดิม ณ วันที่ได้ทรัพย์สินนั้นมา เช่น ซ่อมรถยนต์ใหม่มาใช้งานในกิจการ การเปลี่ยนยางรถยนต์ใหม่แทนของเก่าที่ใช้งานมานาน หรือการซ่อมแซมทรัพย์สิน
2. ดอกเบี้ย (INTEREST EXPENSE) จากการกู้ยืมเงินที่ได้จ่ายไปในระหว่างซื้อทรัพย์สินหรือก่อสร้างอาคารหรืออสังหาริมทรัพย์ จนกระทั่งทรัพย์สิน หรืออาคาร หรืออสังหาริมทรัพย์นั้นพร้อมที่จะใช้งาน รวมทั้งดอกเบี้ยเนื่องจากการกู้ยืมเงินเพื่อการซื้อที่ดิน
จากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ คอลัมน์ไขปัญหาภาษี วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2549

ไม่มีความคิดเห็น:

คลังบทความของบล็อก