01 กุมภาพันธ์ 2549

รายจ่ายในการดำเนินกิจการ : สุเทพ พงษ์พิทักษ์

ในสัปดาห์นี้ นำประเด็นหลักเกณฑ์เกี่ยวกับรายจ่ายในการดำเนินงานของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล มาปุจฉา - วิสัชนา ดังนี้
ปุจฉา เคยได้ยินแต่รายจ่ายต้องห้ามตามประมวลรัษฎากร แต่ไม่เคยได้ยินหลักเกณฑ์เกี่ยวกับรายจ่ายในการดำเนินกิจการทั่วไปที่จะถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิทางภาษีอากรจึงขอให้ช่วยสรุปให้ด้วย
วิสัชนา ประเด็นรายจ่ายในการดำเนินงานนั้น โดยทั่วไปแม้ในประมวลรัษฎากรจะได้กำหนดแต่รายจ่ายต้องห้าม อย่างไรก็ตามหากพิจารณาโดยละเอียด ก็เป็นเหมือนกับเหรียญสองด้าน คือมีทั้งด้านบวก (Positive) และด้านลบ (Negative) และสามารถแบ่งหลักเกณฑ์เกี่ยวกับรายจ่ายออกได้เป็นสามประเด็นคือ
1. รายจ่ายต้องห้ามโดยแท้ (Proper Non Deductible Expenditure) หมายถึง รายจ่ายที่โดยปกติธรรมดาในทางธุรกิจก็ไม่ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิ แต่เนื่องจากในทางภาษีอากรบัญญัติเป็นเชิงปฏิเสธ จึงต้องนำรายการรายจ่ายต้องห้ามโดยแท้มาบัญญัติห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่าย
2.รายจ่ายต้องห้ามโดยผลของกฎหมาย (Legal Non Deductible Expenditure) หมายถึง รายจ่ายที่โดยปกติในทางธุรกิจรับรู้เป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิ แต่ในทางภาษีอากรกำหนดห้ามมิให้นำมาถือเป็นรายจ่าย เพื่อความเป็นมาตรฐานในการคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิทางภาษีอากร
3. รายจ่ายที่ยอมให้ถือเป็นรายจ่ายได้ (Deductible Expenditure) หมายถึง รายจ่ายที่กฎหมายยอมให้หักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิทางภาษีอากร ประกอบด้วย
(1) รายจ่ายในการดำเนินกิจการโดยปกติทั่วไป ซึ่งยอมให้หักเป็นรายจ่ายได้ตามที่จ่ายจริง (2) รายจ่ายที่กฎหมายยอมให้หักเป็นรายจ่ายได้เพิ่มขื้น กว่าจำนวนที่จ่ายจริง
ปุจฉา มีหลักเกณฑ์เกี่ยวกับรายจ่ายในการดำเนินกิจการโดยปกติทั่วไป ซึ่งยอมให้หักเป็นรายจ่ายได้ตามที่จ่ายจริง
วิสัชนา ในทางธุรกิจมักคำนึงถึงรายจ่ายในการดำเนินงาน ในแง่ที่จะจำกัดจำนวนให้มีน้อยที่สุด เพื่อให้มีกำไรสุทธิสูงสุด แต่ในทางตรงกันข้ามในการเสียภาษีอากรผู้ประกอบกิจการกลับเปลี่ยนแนวความ คิดเป็นว่าต้องมีรายจ่ายให้มากขึ้น เพื่อให้จำนวนกำไรสุทธิลดลง เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลน้อยที่สุด
โดยทั่วไปมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาองค์ประกอบรายจ่ายในการดำเนินกิจการที่จะนำไปถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิ โดยต้องครบองค์ประกอบทุกข้อดังนี้
1. ต้องเป็นรายจ่ายที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับการประกอบกิจการ ซึ่งได้แก่ รายจ่ายที่เกิดขึ้นเป็นปกติธุระในการดำเนินกิจการทั่วไป 2. ต้องเป็นรายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ และพิสูจน์ได้ว่า มีเหตุผลอันสมควรที่จะจ่ายรายการรายจ่ายนั้น 3. ต้องเป็นรายจ่ายที่มีหลักฐานการจ่ายที่สามารถพิสูจน์ผู้รับได้ ได้แก่ ใบเสร็จรับเงิน ใบกำกับภาษี ใบสั่งของ ใบแจ้งหนี้ เป็นต้น สำหรับในบางกรณีที่ไม่มีการจ่ายเงิน หรือค่าตอบแทนอย่างอื่น แต่เกิดค่าใช้จ่ายขึ้น เช่น กรณีภัยพิบัติต่างๆ อุบัติเหตุ การฉ้อโกง การลักขโมย ฯลฯ กิจการต้องแสวงหาหลักฐานที่จะสนับสนุนรายการรายจ่ายดังกล่าว เช่น หลักฐานการแจ้งความลงบันทึกประจำวันของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ภาพถ่าย ข่าวสารหนังสือพิมพ์ เป็นต้น 4. ต้องเป็นรายจ่ายสิ้นเปลืองหมดไปที่ไม่ก่อให้เกิดเป็นทรัพย์สินหรือสิทธิที่มีอายุการใช้งานเกินกว่าหนึ่งรอบระยะเวลาบัญชี มิฉะนั้น อาจถือเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน 5. รายจ่ายในการดำเนินงานเกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีปีใด ให้ถือเป็นรายจ่ายของรอบระยะเวลาบัญชีนั้น เว้นแต่ในกรณีที่ไม่สามารถกำหนดจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีใด ก็ให้ถือเป็นรายจ่ายของรอบระยะเวลาบัญชีปีที่รายจ่ายนั้นกำหนดจำนวนที่แน่นอนได้ 6. ต้องไม่เข้าลักษณะเป็นรายจ่ายที่ต้องห้ามตามเงื่อนไขแห่งประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากรปุจฉา รายจ่ายที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับการประกอบกิจการ และรายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ มีลักษณะอย่างไร วิสัชนา รายจ่ายที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับการประกอบกิจการ และรายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ ได้แก่ รายจ่ายที่เกิดขึ้นเป็นปกติธุระในการดำเนินกิจการทั่วไป ที่มีที่มาที่ไป หรือเหตุผลความจำเป็นที่ต้องจ่ายรายจ่ายรายการนั้น เช่น ค่าใช้จ่ายในการนำพนักงานของบริษัท ไปทัศนาจรเป็นการพักผ่อนเพื่อเสริมสร้างสมรรถภาพและกำลังใจในการปฏิบัติงาน โดยจัดเป็นคณะมิใช่เจาะจงเป็นการเฉพาะราย ค่าใช้จ่ายดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นรายจ่ายเพื่อกิจการของบริษัทโดยตรง ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (3) แห่งประมวลรัษฎากร การนำทรัพย์สินของบุคคลอื่นมาใช้ในกิจการของบริษัท โดยไม่ต้องเสียค่าเช่า แต่บริษัท ต้องออกค่าซ่อมแซม ออกอะไหล่และส่วนประกอบ หรือออกค่าน้ำมันเชื้อเพลิงหรืออื่นๆ โดยมติของที่ประชุมผู้ถือหุ้น รายจ่ายดังกล่าว ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (13) แห่งประมวลรัษฎากร
รายจ่ายค่าเดินทางของกรรมการผู้จัดการกับพวก กรณีไม่มีรายงานการประชุมที่อนุมัติให้เดินทาง และเมื่อเดินทางกลับมาก็ไม่มีรายละเอียดรายงานการเดินทางและไม่มีเอกสารอื่นใดเป็นหลักฐานว่าเดินทางไปในกิจการ ถือได้ว่าเป็นรายจ่ายในการเดินทางไปในเรื่องส่วนตัว และมิใช่เป็นรายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ ไม่มีสิทธินำมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิตามมาตรา 65 ตรี (3)(13) แห่งประมวลรัษฎากร (คำพิพากษาฎีกา ที่ 2951/2527)
จากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ คอลัมน์ไขปัญหาภาษี วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2549

ไม่มีความคิดเห็น:

คลังบทความของบล็อก